ภายหลังสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเตได้รับเอกราชจากอินโดนีเซีย ไทยได้ให้ความช่วยเหลือติมอร์-เลสเตเพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศของติมอร์-เลสเต ในด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ติมอร์ เลสเต สามารถพัฒนาได้อย่างครอบคลุมและยั่งยืน ในปัจจุบัน ไทยและติมอร์-เลสเต อยู่ระหว่างการจัดทำแผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ระยะ 3 ปี ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2563-2565)[1]
ความร่วมมือระหว่างไทยและติมอร์ เลสเต มีมาอย่างยาวนาน โดยได้มีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (MOU on Economic and Technical Cooperation) ระหว่างกันตั้งแต่ปี 2546 และมีโครงการความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อีกหลายโครงการเพื่อสะท้อนความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมการพัฒนาประเทศของติมอร์-เลสเต ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยแบ่งออกเป็น 3 สาขาหลัก ได้แก่ การเกษตร การศึกษา และสาธารณสุข
สำหรับภาคการเกษตร ไทยได้ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของติมอร์-เลสเต ทั้งในกรอบทวิภาคีและกรอบไตรภาคีภายใต้โครงการ Sufficiency Economy and Business Promotion in the Agricultural Sector ระหว่างไทย เยอรมนี และติมอร์-เลสเต โดยมุ่งพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและสร้างชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในด้านการปลูกพืชแบบผสมผสานการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูก การทำอาหารสัตว์จากวัสดุธรรมชาติในพื้นที่ การเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด การแปรรูปและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับเกษตรกรและยุวเกษตรกรผู้สนใจ โครงการด้านการเกษตรในปี 2563 อาทิ Enhancement of Agriculture Productivity, Sustainable Community Development และ Fisheries and aquaculture development
ด้านการศึกษา ไทยให้ความร่วมมือทางวิชาการเพื่อช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้แก่ติมอร์ฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยการให้ทุนฝึกอบรม/ดูงานในประเทศไทยในสาขาที่มีความสำคัญ เช่น การเกษตร สาธารณสุข ศึกษา[2] นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มโครงการความร่วมมือการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อส่งเสริมการศึกษา สุขภาพ อนามัย โภชนาการและการเรียนรู้ด้านการเกษตรให้กับเด็กนักเรียน โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมจำนวน 4 โรงเรียนและโรงเรียนที่ขอพระราชทานเข้าร่วมโครงการฯ อีกจำนวน 2 โรงเรียน รวมจำนวน 6 โรงเรียนในกรุงดิลี จังหวัด Emera และจังหวัด Baucau[3] ในปัจจุบัน มีโครงการความร่วมมือเพิ่มเติมทางด้านการศึกษา อาทิ Inclusive education, Capacity Building for Primary School Teachers และ Educational Management
ในด้านสาธารณสุขจะเน้นเรื่องสาธารณสุขมูลฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน[4] โดยไทยได้ริเริ่มหารือถึงความร่วมมือไตรภาคีในด้านสาธารณสุขระหว่างติมอร์-เลสเต ไทย และ UNFPA[5] เพื่อส่งเสริมสุขอนามัยแม่และเด็ก ผดุงครรภ์ และการเรียนรู้จากประเทศไทยเรื่องการทำให้ผู้ป่วย HIV อยู่ในสังคมร่วมกับคนทั่วไปได้ โดยติมอร์ เลสเต ยังให้ความสนใจโครงการพัฒนาด้านอื่น ๆ อาทิ
การพัฒนาสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ผ่านการจัดหลักสูตรฝึกอบรมและเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการกลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ในกลุ่มวัยรุ่น เช่น การห้ามสูบบุหรี่และห้ามดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไทยยังได้หารือเกี่ยวกับแนวทางร่วมการรับมือกับโรคโควิด-19 ของทั้ง 2 ประเทศ และการฟื้นฟูประเทศร่วมกันในภายหน้าต่อไป
[1] http://tica.thaigov.net/main/th/travel/10763
[2] http://tica.thaigov.net/main/th/travel/10775/117033-Timor-Leste.html
[3] http://www.psproject.org/activities/62/02_120962/02_120962.html
[4]http://www.bihmoph.net/userfiles/file/%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%2020%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A256.pdf
[5] https://www.facebook.com/pg/ticacooperation/photos/?tab=album&album_id=1141732292685793