You are currently viewing การประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค (Economic Committee: EC) ครั้งที่ 2/2566

          เมื่อวันที่ 14-15 สิงหาคม 2566 สหรัฐอเมริกา ในฐานะเจ้าภาพประชุมเอเปค ปี 2566 ได้จัดการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค (Economic Committee: EC) ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งอยู่ในห้วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 3 (Third Senior Officials’ Meeting: SOM3) ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม ถึง 21 สิงหาคม 2566 ณ นครซีแอตเทิล มลรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา โดยมีนายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการ สศช. เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจฯ ดังกล่าว และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้มีการหารือกันในประเด็นสำคัญ ดังนี้

          1. การประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจ (EC) ครั้งที่ 2/2566
 
          การประชุม EC จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือถึงความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและขับเคลื่อนวาระการปฏิรูปโครงสร้างเอเปค (Enhanced APEC Agenda for Structural Reform: EAASR) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปค โดยเขตเศรษฐกิจเอเปคได้หารือกันในเรื่องต่าง ๆ อาทิ
 
1.1 การพิจารณารับรองรายงานผลลัพธ์การทบทวนระยะกลาง EAASR (EAASR Mid-Term Review Meeting) อันเป็นความก้าวหน้าในการปฏิรูปโครงสร้างของภูมิภาคเอเปคด้านการเข้าถึงบริการพื้นฐานที่มีคุณภาพและการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน อีกทั้งยังได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางการยกระดับความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างด้านอุตสาหกรรม 4.0 การค้าบริการ ความเท่าเทียมทางเพศ และการดำเนินการในระยะต่อไปผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในกรอบ EC 
 
1.2 การติดตามผลการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของรายงานเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ค.ศ. 2022 (APEC Economic Policy Report 2022: 2022 AEPR) ซึ่งมุ่งเน้นการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อการฟื้นตัวสีเขียว โดยรองเลขาธิการ สศช. รายงานการดำเนินงานของไทย ประกอบด้วย การบูรณาการแนวคิดเศรษฐกิจบีซีจีกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และการขับเคลื่อนศักยภาพและยกระดับมาตรฐานสากลผ่านโครงการ Country Programme ระยะที่ 2 ระหว่างไทยกับ OECD 
 
1.3 การพิจารณาร่างรายงานเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ค.ศ. 2023 (APEC Economic Policy Report 2023: 2023 AEPR) ในหัวข้อ Structural Reform and an Enabling Environment for Sustainable Business for Inclusive, Resilient, and Sustainable Business ซึ่งไทยโดย สศช. และสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำร่วมของคณะทำงานจัดทำรายงานฯ ซึ่งได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย อาทิ แนวทางการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจที่มีนวัตกรรม ความยืดหยุ่น และยั่งยืน รวมถึงแนวทางการจัดเก็บข้อมูลเชิงสถิติเพื่อการออกแบบนโยบาย ในโอกาสนี้ รองเลขาธิการ สศช. กล่าวขอบคุณคณะทำงานทุกฝ่ายสำหรับการมีส่วนร่วมในการจัดทำ 2023 AEPR และเน้นย้ำความสำคัญของ 2023 AEPR ในการเป็นพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อน EAASR การขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความครอบคลุม และมีส่วนช่วยในการบรรลุเป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี โดยที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อความสำเร็จของไทยในการยกร่าง 2023 AEPR และแสดงความมุ่งมั่นที่จะใช้ประโยชน์จาก 2023 AEPR ในการต่อยอดกิจกรรมในกรอบ EC และนำไปปรับใช้ในเขตเศรษฐกิจต่อไป 
 
1.4 การรายงานผลการประชุม Good Regulatory Practice ครั้งที่ 15 (GRP15) ซึ่ง สศช. เป็นเจ้าภาพ เมื่อปี 2565 โดยผู้แทน สศช. รายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย อาทิ สนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงกฎระเบียบ และการบูรณาการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านกฎระเบียบ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้แทน สศช. รายงานถึงความสำเร็จของการประชุม GRP15 ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมมีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง GRP เพิ่มมากยิ่งขึ้น และได้มีการนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไปปฏิบัติ
 
1.5 การขับเคลื่อนกิจกรรมในระยะต่อไป ของกลุ่มเพื่อนประธาน (Friend of the Chair) และความร่วมมือข้ามสาขาของเอเปค (cross-fora cooperation) โดยใช้ EAASR Mid-Term Review Meeting และ 2023 AEPR เป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนต่อไป
 
          2. การประชุมที่เกี่ยวข้อง 
 
          ผู้แทน สศช. เข้าร่วมการหารือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการประชุมที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย (1) การประชุม Efforts to Promote Economic Opportunity and Inclusion: a Case Study on Indigenous Peoples และ การประชุม Increasing Access to the Benefits of Trade for Indigenous Businesses and Entrepreneurs เพื่อศึกษาแนวนโยบายปฏิรูปโครงสร้างและการค้าเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชนพื้นเมือง (2) การประชุม Good Regulatory Practices ครั้งที่ 16 (GRP16) เพื่อศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีด้านมาตรการการปฏิรูประเบียบข้อบังคับ การปรับใช้มาตรฐานสากล แนวปฏิบัติเชิงนวัตกรรมเศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน และ (3) การประชุม APEC Workshop on Gender and Structural Reform: Inclusive Access to Credit and Financial Services เพื่อศึกษาองค์ความรู้การปฏิรูปโครงสร้างที่จะสนับสนุนให้สตรีสามารถเข้าถึงสินเชื่อและบริการทางการเงินเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 
 
ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สำนักเลขาธิการเอเปค www.apec.org
 
ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
ภาพ : สำนักเลขาธิการเอเปค (Credit: APEC Secretariat)