เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13.30 น. นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2/2563 โดยมี นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
(1) รับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตาม Thailand’s SDGs Roadmap ในระยะที่ผ่านมา โดยเฉพาะการดำเนินการในระดับพื้นที่ (SDG Localization) ที่ สศช. ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ และภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ขับเคลื่อนการดำเนินงานใน 9 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กาฬสินธุ์ ยโสธร เลย ลพบุรี เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา น่าน สุราษฎร์ธานี และนราธิวาส และใน 5 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำร่อง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่ (อุทัยธานี) เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี เทศบาลเมืองศรีสะเกษ และเทศบาลตำบลวังไผ่ (ชุมพร) โดย สศช. จะดำเนินการขับเคลื่อนในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงปี 2564 – 2565 เพื่อผลักดันให้เป็นจังหวัดยั่งยืน และ อปท.ยั่งยืน ในทุกมิติการพัฒนา
(2) รับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของไทยในกรอบสหประชาชาติ โดยประธานอนุกรรมการฯ ได้ลงนามในคำสั่งคณะอนุกรรมการฯ ที่ 1/2563 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 เแต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าวขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกรอบสหประชาชาติ โดยมีอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน ซึ่งคณะทำงานชุดนี้มีอำนาจหน้าที่สำคัญ อาทิ ประสานท่าทีของหน่วยงานภายในประเทศที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้ในการร่วมขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และ SDGs ของไทยในกรอบสหประชาชาติ และจัดทำรายงานการทบทวนการดำเนินงาน หรือ Voluntary National Review (VNR) สำหรับเสนอต่อ
ที่ประชุมระหว่างประเทศในกรอบสหประชาชาติ
(3) เห็นชอบในหลักการแนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับเป้าหมายหลัก (Goal) และเป้าหมายย่อย (Target) ซึ่ง สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามมติคณะกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 ที่ได้มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบใน 2 ระดับ ได้แก่ ระดับเป้าหมายหลัก (C1) และระดับเป้าหมายย่อย (C2) ซึ่งแนวทางการดำเนินงานนั้น จะมี Roadmap ขับเคลื่อนรายเป้าหมายหลัก เนื่องจากแต่ละเป้าหมายหลักมีบริบทการพัฒนาที่แตกต่างกัน และมีการทบทวนตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย พร้อมพิจารณาค่าเป้าหมายและหมุดหมายที่เหมาะสมกับระดับการพัฒนาของประเทศ
ทั้งนี้ ประธานอนุกรรมการฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญที่ต้องสร้างความตระหนักรู้เรื่อง SDGs ให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนได้รับรู้และร่วมกันปฏิบัติโดยทั่วกัน เพื่อสร้างประเทศไทยให้ยั่งยืนอย่างไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยขอให้อนุกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ร่วมกันดำเนินการ
ในเรื่องดังกล่าว เพื่อสร้างความตื่นตัวเชิงสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อน SDGs ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังในสังคม โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ ที่เป็น “ทศวรรษแห่งการทำจริง” หรือ “Decade of Action” ที่คนไทยจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อสร้างประเทศไทยที่เข้มแข็ง และสร้างโลกที่เติบโตอย่างยั่งยืน
—
กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ