You are currently viewing การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 13 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (The 13th Mekong-Japan Economic Ministers’ Meeting)

เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีประจำกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (MJ-CI Minister) เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 13 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี ดร.คำเพง สีสมพง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว เป็นประธานการประชุมร่วมกับนายฮิโรชิ คากิยามะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ญี่ปุ่น ร่วมด้วยรัฐมนตรีจากประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงคือ นายปัน สรศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กัมพูชา นายอ่อง เนียง โอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เมียนมา นายตรัน ก๊วก เฟือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน เวียดนาม และดาโต๊ะลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน พร้อมด้วย นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะผู้แทนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของฝ่ายไทย ผู้แทนหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ผู้แทนภาคเอกชนญี่ปุ่นและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอาเซียน-ญี่ปุ่น (AMEICC) ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ เข้าร่วมการประชุม

ที่ประชุมฯ รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของแผนปฏิบัติการ (Work Program) ภายใต้วิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2562 – 2566 ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาในอนุภูมิภาคภายใต้ 3 เสาหลัก ได้แก่

  1. การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Connectivity) และกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม
  2. นวัตกรรมเชิงดิจิทัล (Digital Innovation) การยกระดับอุตสาหกรรมผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล
  3. การดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเสนอโครงการใหม่จำนวน 5 โครงการ โดยได้ร่วมดำเนินการกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของทั้ง 3 หลัก ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริม 1 หมู่บ้าน 1 ผลิตภัณฑ์ (OVOP) 2) โครงการฝึกอบรมพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ให้แก่ข้าราชการ 3) โครงการส่งเสริมการร่างแนวทางการเปลี่ยนถ่ายของพลังงาน 4) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อปฏิบัติตามแนวทางการความเป็นกลางทางคาร์บอก และ 5) โครงการส่งเสริมการหารือเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กล่าวแสดงความชื่นชมญี่ปุ่นและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในความพยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันไม่ให้ขาดช่วง ถึงแม้จะอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมแสดงเจตจำนงค์ของไทยในความพยายามที่จะเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่ากับประเทศเพื่อนบ้านผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งเชิงกายภาพและด้านกฎระเบียบ โดยมุ่งเน้นเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดนในแนวระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยมีแผนที่จะเชื่อมโยงกับระบบการขนส่งในทุกรูปแบบกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวเหนือ-ใต้ และแนวตะวันออก-ตะวันตกตามแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (Motorway-Rail Map: MR Map) รวม 9 เส้นทาง และโครงการสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ทางภาคใต้ เชื่อมโยงทะเลฝั่งอ่าวไทยและทะเลฝั่งอันดามัน และแผนงาน IMT-GT มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ (Quality Infrastructure) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมุ่งเน้นเสริมสร้างคุณภาพของประชาชนไทยและแรงงานให้มีความสามารถเชิงดิจิทัลเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ในการนี้ รมว.คมนาคม ได้ขอให้ญี่ปุ่นมีบทบาทนำในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ การนำใช้ IoTs /Smart Devices /Cloud Computing ให้แก่ประเทศสมาชิก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม Champion ของญี่ปุ่นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อาทิ ยานยนต์ และอิเล็คทรอนิกส์ รวมถึงการแสดงเจตจำนงค์ของไทยในความพยายามที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านแนวนโยบายการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เพิ่มการนำใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

อนึ่ง กรอบความร่วมมือ MJ-CI นี้ เป็นการสนับสนุนบทบาทของญี่ปุ่นด้านการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมที่เป็นฐานการผลิตของญี่ปุ่น เช่น ยานยนต์และอิเล็คทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมที่ต่อยอดให้ห่วงโซ่มูลค่าในญี่ปุ่น เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และท่องเทียวเชิงสุขภาพและการบริการสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งมุ่งเน้นการเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก EWEC) และแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (SEC)  เป็นหลัก

การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมครั้งที่ 14 กำหนดจัดขึ้นในปี 2565 โดยรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชารับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

ภาพ : กระทรวงคมนาคม
ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ