You are currently viewing การประชุมระดับรัฐมนตรี แผนงาน GMS ครั้งที่ 25

          วันที่ 8 ธันวาคม 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.กค.) ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS Minister) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเจ้าหน้าที่ไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี แผนงาน GMS ครั้งที่ 25 (The 25th GMS Ministerial Conference) ภายใต้หัวข้อหลักคือ “การเร่งรัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพื่อต่อยอด 30 ปี แห่งความสำเร็จของแผนงานจีเอ็มเอสไปสู่การพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน” ซึ่งกระทรวงแผนการและการลงทุน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) โดยมี นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะผู้ประสานงานหลักระดับประเทศ (National Coordinator) แผนงาน GMS เข้าร่วมประชุม

          ในการประชุมครั้งนี้ มีรัฐมนตรีประจำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS Minister) เข้าร่วมด้วย ได้แก่ นายสก เจนดา โซเพีย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการสภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา ราชอาณาจักรกัมพูชา นายเซียง ฟัง เฉียง อุปทูตสถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ สปป.ลาว ดร. ว่า ว่า หม่อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นายเติ่น ก๊วก เฟือง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีนายคำเจน วงโพสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป.ลาว เป็นประธานการประชุมร่วมกับนายอาเหม็ด เอ็ม ซาอิด รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนจากประเทศสมาชิก GMS ทั้ง 6 ประเทศ และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partners)
 
          ในโอกาสนี้ รมว.กค. ได้แสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 30 ปีแห่งการจัดตั้งแผนงาน GMS ซึ่งการดำเนินงานของแผนงานฯ ได้มีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ อาทิ โครงการขยายถนนทางหลวง GMS ระยะที่ 2 ที่ได้ขยายถนนทางหลวงหมายเลข 22 และ 23 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และโครงการขยายถนนทางหลวงสู่ด่านพรมแดนทุกด่านเป็น 4 ช่องจราจร ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ทำให้การสัญจรและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น ส่งผลต่อการขยายตัวในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญที่ไทยดำเนินการร่วมกับ สปป.ลาว ได้แก่ โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากสถานีท่านาแล้งไปยังเวียงจันทน์ระยะทาง 7.5 กม. และโครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 12 (R12) ใน สปป.ลาว ช่วงสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ไปยังด่านพรมแดนน้ำพาว ซึ่งจะทำให้ไทยและ สปป.ลาว เป็นศูนย์กลางด้านการค้าและโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาค GMS
 
          ในขณะเดียวกัน รมว.กค. ได้เสนอให้ที่ประชุมฯ พิจารณาความเป็นไปได้ในการริเริ่มหาแนวทางการระดมทุนใหม่เพื่อพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การออกตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) ดังเช่นที่กระทรวงการคลังของไทยประสบความสำเร็จในการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) นอกจากนี้ รมว.กค. เสนอให้ภาครัฐของทั้ง 6 ประเทศเร่งการดำเนินงานตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาค GMS (CBTA) ในระยะแรก (Early Harvest) อย่างต่อเนื่อง ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลง โดยเฉพาะการเร่งปรับปรุงกฎระเบียบการดำเนินงานในด่านพรมแดนเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในอนุภูมิภาค GMS ในส่วนของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน รมว.กค. สนับสนุนประเทศสมาชิกในการส่งเสริมให้กิจการธุรกิจท่องเที่ยวขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย (MSMEs) นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ อันจะนำมาซึ่งรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น ในด้านการพัฒนาประชาคม GMS นั้น รมว.กค. เน้นย้ำการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมตามแนวทาง “สุขภาพหนึ่งเดียวของ GMS” เพื่อป้องกันโรคระบาดร้ายแรงอันจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้คณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและเกษตรร่วมกันนำ BCG โมเดลมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานร่วมกันของทั้ง 2 คณะทำงาน และเห็นว่ายุทธศาสตร์ความเท่าเทียมทางเพศ GMS จะมีส่วนสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาททางด้านเศรษฐกิจในครัวเรือนมากยิ่งขึ้น
 
          ในโอกาสนี้ รมว.กค. ได้เน้นย้ำต่อที่ประชุมถึงความสำคัญของการเร่งปฏิบัติตามแผนงาน/โครงการความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกัน “ลงมือทำ” ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในโอกาสเดียวกันนี้ รัฐมนตรี GMS ร่วมกันให้การรับรองเอกสาร 5 ฉบับ ได้แก่ (1) แถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี การประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 25 (2) ยุทธศาสตร์ความเท่าเทียมทางเพศ GMS (3) กรอบการประเมินผลลัพธ์สำหรับกรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS พ.ศ. 2573 (4) ข้อริเริ่มความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัล GMS และ (5) กรอบการลงทุนของภูมิภาค ฉบับใหม่ พ.ศ. 2568 โดยเอกสารทั้ง 5 ฉบับ มีความสอดประสานกับประเด็นภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13 และการผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประเทศไทย
 
          การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 25 ของแผนงาน GMS เป็นโอกาสในการเร่งรัดความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Connectivity) ในพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเพื่ออำนวยความสะดวกการเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยการนำใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาทางธุรกิจท่องเที่ยวและการเกษตรในท้องถิ่น จะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) และการพัฒนาประชาสังคมใน GMS (Community) อาทิ การปฏิบัติตามแนวทาง “สุขภาพหนึ่งเดียว” การประยุกต์ใช้ BCG โมเดล หรือการส่งเสริมบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของผู้หญิง โดยทั้ง 3 เสาการพัฒนาของ GMS (3Cs) จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
 
**************************
ข่าว/ภาพ : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ