You are currently viewing การประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีและภาคเอกชน กรอบ MJ-CI ครั้งที่ 13

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีและภาคเอกชนกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 13 และการประชุมคณะทำงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก ครั้งที่ 1/2563 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Videoconference) ร่วมกับผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านการต่างประเทศ (นายชิเงฮิโระ ทานะกะ) กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) พร้อมด้วยรัฐมนตรีหรือผู้แทนรัฐมนตรี 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว (นายสมจิต อินทะมิท) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  เมียนมา (นายบราลัต ซิงค์) ปลัดกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา (นายซก โซเพียก) อธิบดีกรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงวางแผนและการลงทุนเวียดนาม (นายฟาม เฮือง ไม) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนภาคเอกชน 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและญี่ปุ่น และผู้แทนองค์กรหุ้นส่วนการพัฒนา โดยมีนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะผู้ประสานงานหลักระดับประเทศ (National Coordinator) กรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (MJ-CI) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนภาคเอกชน 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและญี่ปุ่น และผู้แทนองค์กรหุ้นส่วนการพัฒนา ได้แก่ ADB JBIC JICA JETRO NEDO Mekong Institute และ UNESCAP เข้าร่วม ณ ห้องราชดำเนิน กระทรวงคมนาคม

การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น รับทราบอุปสรรค และหารือแนวทางการดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงระยะที่ 2 ปี 2562-2566 (MIDV2.0) และขอให้แต่ละประเทศนำเสนอโครงการความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในแต่ละเสาหลักภายใต้ MIDV2.0 เพื่อการผลิกฟื้นทางเศรษฐกิจ และการตอบสนองอย่างแข็งขันต่อผลกระทบและความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ที่ประชุมฯ ได้หารือถึงแผนงาน/โครงการที่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานต่อวิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะปี 2562-2566 (MIDV2.0) โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านความเชื่อมโยง ทั้งด้านอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบ 2) ด้านนวัตกรรมเชิงดิจิทัล และ 3) ด้านการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในโอกาสนี้ นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายไทย ได้นำเสนอแผนงาน/โครงการสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานในแต่ละเสาหลักภายใต้วิสัยทัศน์ MIDV2.0 และมุ่งตอบสนองต่อผลกระทบและความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จำนวน 5 โครงการ ทั้งนี้ รองเลขาธิการฯ ยังได้เน้นย้ำถึงการเร่งปรับปรุงกฏระเบียบการข้ามแดนระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะความร่วมมือภายใต้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross Border Transport Facilitation Agreement: CBTA) และการพัฒนาระบบศุลกากร ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) ให้มีมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดการข้ามแดนที่ปลอดภัย ไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ลดความแออัดบริเวณหน้าด่าน มีการดำเนินงานแบบเบ็ดเสร็จ อันจะส่งผลให้การเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงไม่ขาดช่วง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างกันในเรื่องการพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงาน การนำใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) และมุ่งส่งเสริมรูปแบบทางธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพและ SMEs รวมถึงการเน้นย้าให้มีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อแปลงเปลี่ยนวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ในส่วนของผู้แทนภาคเอกชนประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและญี่ปุ่นได้นำเสนอประเด็นความร่วมมือสำคัญเพื่อปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ การเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและการบริการ การส่งเสริมขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs การเร่งดำเนินการภายใต้ความตกลง CBTA และระบบศุลกากร ณ จุดเดียวในอาเซียน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และการเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยี การนำใช้เครื่องมือ ICT ปัญญาประดิษฐ์ และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งเพื่อการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นที่ได้จากการประชุมฯ ฝ่ายญี่ปุ่นจะได้นำใช้ไปเป็นข้อมูลในการให้ความร่วมมือสนับสนุนแผนงาน/โครงการที่ถูกนำเสนอขึ้นมาโดยประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ในการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 12 ในเดือน กันยายน 2563 ณ ประเทศเวียดนาม ต่อไป