You are currently viewing การประชุมวางแผนยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 17 เพื่อขับเคลื่อนแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)
  • Post author:
  • Post category:IMT-GT

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการระดับชาติ แผนงาน IMT-GT เข้าร่วมการประชุมวางแผนยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 17 (The 17th IMT-GT Strategic Planning Meeting) ณ เมืองทังเกอรัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ร่วมกับเจ้าหน้าที่อาวุโส แผนงาน IMT-GT จากสาธารณรัฐอินโดนีเซียและสหพันธรัฐมาเลเซีย ได้แก่ ดร. อีดี้ พริโอ ปามบูดี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงประสานงานด้านเศรษฐกิจ ประธานการประชุมฯ และ ดาโต๊ะ ดร. ซูนิก้า บินดี มะหะหมัด รองอธิบดีด้านนโยบาย กระทรวงเศรษฐกิจ พร้อมด้วยผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ผู้บริหารศูนย์ประสานความร่วมมือแผนงาน IMT-GT (Centre of IMT-GT Subregional Cooperation: CIMT) ในฐานะฝ่ายเลขานุการแผนงาน IMT-GT และผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจาก 3 ประเทศสมาชิกแผนงาน IMT-GT

 
ในโอกาสนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโส ของทั้ง 3 ประเทศได้รับทราบผลการดำเนินงานภายใต้แผนดำเนินงานระยะห้าปี พ.ศ. 2565-2569 (Implementation Blueprint 2022-2026: IB 2022-2026) และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของแต่ละสาขาความร่วมมือภายใต้แผนงาน IMT-GT ดังนี้ 
 
1.  สาขาการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ทั้ง 3 ประเทศอยู่ระหว่างเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยางในอนุภูมิภาค IMT-GT เพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มการพัฒนาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการอำนวยความสะดวกการดำเนินธุรกิจและเกิดการกระจายรายได้สู่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาเกษตรกรรุ่นเยาว์ในอนุภูมิภาค IMT-GT ผ่านนวัตกรรมและการเสริมสร้างทักษะด้านการเกษตรสมัยใหม่
 
2.  สาขาการท่องเที่ยว มีความคืบหน้าในการดำเนินโครงการและกิจกรรมภายใต้แคมเปญปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT พ.ศ. 2566-2568 ผ่านการเสริมสร้างการตระหนักรู้ในเวทีต่าง ๆ และการร่วมกันจัดทำตัวชี้วัดการดำเนินงาน ซึ่งครอบคลุมการจัดทำแผนการสื่อสารด้านการตลาดการท่องเที่ยวและการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวในอนุภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงความร่วมมือกับคณะทำงานสาขาความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศ IMT-GT 
 
3.  สาขาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล ได้ดำเนินการภายใต้ Strategic Halal Industry Collaboration Task Force อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกลไกการพัฒนาด้านการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมฮาลาล รวมทั้งอยู่ระหว่างการดำเนินงานร่วมกันในการพัฒนาโครงการ Halal route เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยด้านฮาลาลของทั้ง 3 ประเทศ และรับทราบความก้าวหน้าด้านการรับรองมาตรฐานอาหาร สินค้าและบริการฮาลาล เพื่อช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลใน IMT-GT ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก
 
4.  สาขาความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่ง การดำเนินงานภายใต้โครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity Projects: PCPs) มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโครงการลำดับความสำคัญสูงคือ สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง) และโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ หาดใหญ่–ปะดังเบซาร์ อย่างไรก็ตาม เล็งเห็นถึงความท้าทายในการพัฒนาโครงการความเชื่อมโยงร่วมกันทั้ง 3 ประเทศ ในการพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมให้เชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่ออย่างมีคุณภาพและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
 
5.  สาขาการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล กำลังดำเนินการเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม e-Commerce ใน IMT-GT ร่วมกับสภาธุรกิจ IMT-GT เพื่อเป็นช่องทางการใช้เทคโนโลยี/นวัตกรรมเพื่อสนับสนุน SMEs และเพิ่มมูลค่าการค้าข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาค โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะขยายผลและพัฒนาไปสู่ IMT-GT Mall ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการพิจารณาการจัดทำ Business Model และการหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การค้าและระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศเพื่อสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจเพื่อรองรับการใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าว
 
6.  สาขาการค้าและการลงทุน ได้สรุปรายละเอียดกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกัน (FoC in CIQ) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสินค้าและบุคคลในอนุภูมิภาค IMT-GT แล้วเสร็จ และเจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้ง 3 ประเทศ เห็นพ้องต้องกันที่จะเร่งรัดให้มีการลงนามในกรอบความร่วมมือดังกล่าวภายในปี 2567
 
7.  สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีการดำเนินโครงการร่วมกัน (Regional Projects) เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของแรงงานและส่งเสริมการบูรณาการมาตรฐานทักษะแรงงานให้สอดคล้องกัน อย่างไรก็ตาม เห็นควรพัฒนาความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำเพื่อให้สามารถพัฒนาทักษะแรงงานในอนุภูมิภาค IMT-GT ให้ตรงกับความต้องการของตลาด พร้อมทั้งยังคงให้ความสำคัญกับการผลิตและพัฒนาทักษะแรงงานอาชีวศึกษา (TVET)
 
8.  สาขาสิ่งแวดล้อม มีบทบาทหลักนำเสนอความริเริ่มใหม่ ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องการดำเนินการภายใต้ IB 2022-2026 พร้อมทั้งมีการดำเนินการพัฒนาโครงการด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับพันธมิตรเพื่อการพัฒนา อาทิ อินเดียและ UN-ESCAP ในการจัดทำโครงการพื้นที่นำร่องและมีบทบาทหลักในโครงการขับเคลื่อนโมเดล BCG สู่การปฏิบัติในเมืองนำร่องสีเขียว (Green Cities) 
 
9.  ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าของความร่วมมือของสภาธุรกิจ IMT-GT และ UNINET ในการผลักดันแผนงาน/โครงการร่วมกับคณะทำงานในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรม 
 
โอกาสเดียวกันนี้ ADB ในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของแผนงาน IMT-GT ได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดทำ Joint BIMP-EAGA and IMT-GT Blue Economy Strategy 2030 เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน ซึ่งมีความสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานระยะห้าปี IB 2022-2026 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาของเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจสีน้ำเงิน และเศรษฐกิจหมุนเวียน
 
การประชุมวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ครั้งที่ 18 รัฐบาลสหพันธรัฐมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปี 2568 รวมทั้ง สหพันธรัฐมาเลเซียจะเป็นประธานการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงาน IMT-GT และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในช่วงเดือนกันยายน 2567
 
ข่าว: กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ