เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 7 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ในฐานะประธานการประชุมฯ พร้อมด้วย นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ดร. พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และนายมาซาสึกุ อะซาคาวา ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย พร้อมด้วยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะผู้แทนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของฝ่ายไทย เข้าร่วมการประชุมในโอกาสนี้
การประชุมฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก (Theme) “แผนงาน GMS: พลิกฟื้นความแข็งแกร่งเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายในทศวรรษใหม่” ซึ่งเน้นย้ำเจตนารมณ์การพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงภายใต้วิสัยทัศน์ “การเป็นอนุภูมิภาคที่มีการบูรณาการมากขึ้น มีความเจริญรุ่งเรือง มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” ผ่านการชูบทบาทนำและสร้างสรรค์ของไทยในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนในยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสานต่อความสำเร็จของเสาหลักความร่วมมือ 3 ด้าน (3Cs) ของแผนงาน GMS คือ ความเชื่อมโยง (Connectivity) ความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) และความเป็นประชาคม (Community) อย่างต่อเนื่อง โดยมีสาระสำคัญดังนี้
เหล่าผู้นำประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม คือ
- ปฏิญญาร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 7
- กรอบยุทธศาสตร์แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การดำเนินงานของแผนงาน GMS ในระยะ 10 ปีข้างหน้า พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางเพื่อลดอุปสรรคและความท้าทายในการดำเนินงาน
- แผนการฟื้นฟูและตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2564 – 2566 ซึ่งมุ่งเน้นการฟื้นตัวทั้งทางเศรษฐกิจและสุขภาพในอนุภูมิภาค GMS ในระยะสั้นและกลาง
นอกจากนี้ เหล่าผู้นำประเทศแผนงาน GMS ได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานและกิจกรรมตลอดช่วงปี 2563 – 2564 ที่แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังสามารถปรับตัวและดำเนินกิจกรรมที่สำคัญให้สำเร็จลุล่วงไปได้ โดยมีความก้าวหน้าโครงการสำคัญ อาทิ การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจีน – สปป.ลาว การก่อสร้างทางด่วนสายพนมเปญ – สีหนุห์วิลล์ การก่อสร้างทางด่วนสายนครหลวงเวียงจันทน์ – วังเวียง การก่อสร้างถนนสายหงสา – จอมเพ็ด การปรับปรุงท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 การก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง ไทย – สปป.ลาว – จีน
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงความชื่นชมประเทศสมาชิกในความพยายามเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการแพร่ระบาดฯ และได้เน้นย้ำความร่วมมือเพื่อสานต่อความสำเร็จของแผนงานความร่วมมือ GMS ในทศวรรษต่อไป ดังนี้
- ความเชื่อมโยง หรือ Connectivity โดยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมอย่างไร้รอยต่อทั้งภายในอนุภูมิภาคและสู่ภูมิภาคอื่น ๆ และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตามแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR Map) และแผนพัฒนาสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ทางภาคใต้ ซึ่งจะเป็นช่องทางส่งออกและนำเข้าสินค้าแห่งใหม่ของ GMS ขณะเดียวกัน ไทยมีความพร้อมในการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเข้ากับเส้นทางจากจีน และ สปป.ลาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าและขยายห่วงโซ่มูลค่าในอนุภูมิภาค สำหรับความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบไทยส่งเสริมให้ประเทศสมาชิก GMS และ ADB เร่งผลักดันการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเร่งหารือเพื่อผลักดันกฎระเบียบที่เป็นหนึ่งเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ
- ความสามารถในการแข่งขัน หรือ Competitiveness เน้นสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ภาคธุรกิจทุกระดับปรับตัวเพื่อให้อนุภูมิภาค GMS มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยไทยให้ความสำคัญกับการเยียวยาควบคู่ไปกับการสร้างศักยภาพของ MSMEs รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ไทยได้พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงภายใต้นโยบาย Thailand 4.0
- ความเป็นชุมชน หรือ Community สร้างภูมิคุ้มกันให้กับอนุภูมิภาคจากโรคระบาดหรือโรคอุบัติใหม่ โดยไทยได้จัดทำแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลการดำเนินงานในระดับอนุภูมิภาค GMS อีกทางหนึ่ง ร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือชายแดน GMS ปลอดภัย ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนการเพิ่มพูนความร่วมมือเพื่อการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดต่อในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้เร่งขับเคลื่อนการพัฒนาที่เน้นการสร้างความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยได้กำหนดให้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) เป็นวาระแห่งชาติด้วย
การประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 8 กำหนดจัดขึ้นในปี 2567 โดยรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
ภาพ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ