เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานร่วมกับนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในการประชุมหารือเกี่ยวกับประเด็นความพร้อมและความเหมาะสมของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
จากการประเมินในเบื้องต้นพบว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์หลายด้านหากเข้าเป็นสมาชิก OECD แบบเต็มรูปแบบ (Full Member) อาทิ การปรับปรุงมาตรฐานภายในประเทศให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสการเข้าถึงตลาดประเทศสมาชิก การเข้าถึงฐานข้อมูลเศรษฐกิจโลกที่หลากหลาย การได้รับคำปรึกษาและความช่วยเหลือทางวิชาการจาก OECD และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและส่งเสริมบทบาทไทยในเวทีโลก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นข้อจำกัดที่ประเทศไทยต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน อาทิ การให้สิทธิประโยชน์ของนักลงทุนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ และการเปิดเผยข้อมูลในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนในประเทศเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ การเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD จะต้องมีกระบวนการดำเนินงานทั้งภายในและระหว่างประเทศ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่รวมไปถึงการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการแสดงความมุ่งมั่น (Willingness) และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของ OECD อย่างจริงจัง (Engagement) โดยหากประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD นั้น นอกจากจะเป็นการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานภายในประเทศแล้ว ยังจะเป็นการเสริมสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลกได้อีกทางหนึ่ง สอดคล้องกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการต่างประเทศ
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดตามความก้าวหน้าและค้นหาเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ https://bit.ly/42wiVGc
ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ