You are currently viewing การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : กรณีศึกษา “การสร้างระบบดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน รองรับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง”

          โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านสี่แยกสวนป่า ตำบลวังหิน อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหน่วยงานสาธารณสุขที่มุ่งสร้างเสริมสุขภาพมากกว่าการซ่อมแซมสุขภาพ ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกระตุ้นให้ชาวบ้านตระหนักว่า “ไม่มีใครจะดูแลเราได้ดี เท่ากับตัวเราดูแลตัวเอง” การใช้ชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพและสุขอนามัยของตนเองและส่วนรวมมากขึ้น โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพอนามัยให้บริการประชาชน ด้านการส่งเสริม รักษา ป้องกัน และฟื้นฟู ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทยและ
แผนโบราณ และการแพทย์ทางเลือก โดยมีความมุ่งมั่นตั้งใจให้ชุมชนมีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ มีความรู้และสามารถพึ่งพาตนเองได้ และพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านรายได้ ตามวิสัยทัศน์ “เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่ให้บริการด้วยการแพทย์คู่ขนาน ภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายสุขภาพ สู่ระบบสุขภาพต้นทุนต่ำ” ซึ่งมีแนวทางการขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชนที่ดี ดังนี้

ปรับ Mindset กระบวนการสุขภาพชุมชน  โดยเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานใหม่ ที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพมากกว่าการซ่อมแซมสุขภาพ ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต ทั้งอาหารการกิน การพักผ่อน การออกกำลังกาย การจัดการกับอารมณ์ความรู้สึก และกิจกรรมอื่น ๆ รวมทั้งกระตุ้นให้ชาวบ้านตระหนักว่า “ไม่มีใครจะดูแลเราได้ดี เท่ากับตัวเราดูแลตัวเอง” โดยเริ่มที่ตัวเองเป็นหลัก เพื่อให้ชาวบ้านหันมาใส่ใจดูแลตัวเองและสุขภาพร่างกาย

สร้างกลไกการทำงานในชุมชน โดยสร้างศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนทุกหมู่บ้าน  โดยรื้อฟื้นระบบอาสาสมัครใหม่ ด้วยการสร้าง “ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.)” เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน (อสม.) ให้บริการรักษาพยาบาลเบื้องต้นในหมู่บ้าน เป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร และศูนย์กลางในการแก้ปัญหาสุขภาพชุมชน ซึ่งเป็นงานภาคประชาชนที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ดูแลรักษาสุขภาพด้วยตนเอง โดยมี อสม. แต่ละหมู่บ้านเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้การดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้นแก่อาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) ที่มาจากคนในแต่ละครอบครัวโดยตรง นอกจากนี้ ได้จัดตั้งโรงเรียน อสม. บ้านสี่แยกสวนป่า เป็นโรงเรียน อสม.
แห่งแรกของประเทศไทย บนฐานคิดที่ว่า เรียนรู้ตลอดชีวิตของการเป็น อสม. ทำให้ อสม. รู้จักบทบาทหน้าที่
มีความรู้ทักษะงานบริการต่าง ๆ เกิดความมั่นใจ พร้อมให้บริการ มีศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจ รวมทั้งใช้ รร.อสม. เป็นแหล่งสร้างการเรียนรู้ด้านนวัตกรรมสุขภาพ และสร้างอาสาสมัครพันธุ์แท้ที่รวมตัวกันขับเคลื่อนงานสุขภาพ
อย่างเป็นรูปธรรม ในการดูแล สอดส่องสุขภาพของคนในชุมชน ที่เรียกว่า “สุขภาพภาคประชาชน” ทำงาน
เชื่อมร้อยงานสุขภาพภาคประชาชนและงานพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน ทั้งกระบวนการบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการข้อมูลชุมชนและการจัดการองค์ความรู้อย่างเป็นระบบและเป็นปัจจุบัน สร้างและเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายการทำงานทั้งองค์กรภายในและภายนอกพื้นที่ โดยการสานพลังเชื่อมกับทุน
ในพื้นที่ ทั้งท้องถิ่น ท้องที่ และองค์กรภาครัฐต่าง ๆ ในชุมชน รวมทั้งองค์กรภายนอกที่หลากหลายที่มุ่งเน้น
การทำงานแบบ “จิตอาสา” และร่วมกันทำงานจนเป็นเครือข่ายที่ไว้วางใจกัน เพื่อบูรณาการการทำงานแบบ
องค์รวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สร้างเครื่องมือการขับเคลื่อนสุขภาพชุมชน  คือ จัดทำและใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ (Strategy Road Map : SRM) เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนแผนงานสุขภาพและโครงการของชุมชนทั้งตำบล โดยการจัดเวทีประชาคม/ประชาสังคมในการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งท้องถิ่น ท้องที่ ภาครัฐ อสม. อาสาสมัคร และประชาชนในพื้นที่ กำหนดจุดหมายปลายทางเป็น “ตำบลสร้างสุข…ที่วังหิน” ที่ให้คนในชุมชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง เหมาะสม ชุมชนเฝ้าระวังสุขภาพกันเองได้ และชุมชนเป็นเจ้าของแผนงาน/โครงการสุขภาพกันเอง หรือที่เรียกว่า “ระบบสุขภาพต้นทุนต่ำ ที่คนในชุมชนสามารถเรียนรู้และจัดการระบบสุขภาพกันเองได้” รวมทั้ง คิดค้นนวัตกรรมสุขภาพเพื่อสร้างสุขของชุมชน ที่นำบริการทางการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก และ
ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับวิถีชุมชนมาผสมผสานในกิจกรรม/โครงการด้วย  อาทิ “เดินไม่กี่ก้าว ก็เข้าถึง
แผนไทย” “สมุนไพรรอบรั้วบ้าน” เพื่อให้สมุนไพรเป็นยารักษาโรคในเบื้องต้นและเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชน ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเปลี่ยนประชาชนจาก “ผู้รับบริการ” เป็น “ผู้ร่วมจัดบริการในชุมชน” มุ่งสู่
การดูแลสุขภาพต้นทุนต่ำ ที่ประชาชนเป็นเจ้าของสุขภาพตนเองได้

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนและชุมชนปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม  ประชาชนในพื้นที่
มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพแบบองค์รวม เกิดความตระหนัก เข้าใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิตอย่างจริงจัง เช่น ลดการซื้อกาแฟผงสำเร็จรูป การซื้อผักปลอดสารพิษ ลดการบริโภคเกลือ น้ำตาล เป็นต้น ส่งผลให้
คนในชุมชนมีสุขภาวะที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรังและกลุ่มเสี่ยงมีจำนวนลดลง คนในชุมชนสามารถดูแลรักษาสุขภาพด้วยตนเอง โดยมี อสม. และทีมสุขภาพภาคประชาชน เป็นกลไกในการติดต่อประสานงาน ชี้แจง สร้างความรู้ความเข้าใจ และร่วมกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ รวมทั้งระบบสุขภาพชุมชนมีความยั่งยืน ทีมงานสุขภาพชุมชนมีความเข้มแข็ง และมีการสร้างคนให้มีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง มีกระบวนการเรียนรู้ในด้านการจัดการระบบสุขภาพของตนเอง คนในครอบครัว และชุมชน ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ระบบการจัดการสุขภาพมีความแข็งแรง เมื่อระบบมีความแข็งแรง ประชาชนเป็นเจ้าของสุขภาพของตนเองได้ สามารถดูแลตนเองและคนในครอบครัว ลดการพึ่งพาระบบสาธารณสุขของรัฐ เมื่อนั้นระบบสุขภาพต้นทุนต่ำจะค่อย ๆ เจริญเติบโตอย่างแข็งแรง
เป็นภูมิคุ้มกันที่ดี พร้อมรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงและยั่งยืนได้ในอนาคต