สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดการหารือทวิภาคีเกี่ยวกับทิศทางความร่วมมือระหว่างไทยกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) และโครงการ Country Programme ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ณ กระทรวงพลังงาน โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการ สศช. กับ Mr. Mathias Cormann เลขาธิการ OECD เข้าร่วมการหารือ
ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ กล่าวชื่นชมความสำเร็จในการดำเนินโครงการ Country Programme ระยะที่ 1 (CP1) ระหว่างไทยกับ OECD และเน้นย้ำความสำคัญในการต่อยอดการดำเนินโครงการ Country Programme ในระยะที่ 2 (CP2) ซึ่งประกอบด้วย 4 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ (1) ธรรมาภิบาลภาครัฐ (Good Governance) (2) สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน (Business Climate and Competitiveness) (3) ความครอบคลุมทางสังคมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Social Inclusion and Human Capital Development) และ (4) การฟื้นฟูสีเขียว (Green Recovery) โดยมุ่งหวังว่าการดำเนินความร่วมมือภายใต้ CP2 จะช่วยขับเคลื่อนร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งได้กำหนดหมุดหมายการพัฒนา จำนวน 13 หมุดหมายเพื่อพลิกโฉมประเทศสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” โดยมุ่งไปที่ 4 ด้านหลักของการพัฒนา คือ (1) ภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย (2) โอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม (3) ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และ (4) ปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ โดยเฉพาะ การให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน
รองนายกรัฐมนตรีฯ ยังได้นำเสนอนโยบาย BCG Model ซึ่งเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล พร้อมเน้นย้ำเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 สอดคล้องกับนโยบาย Climate Change ของ OECD ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศอีกด้วย นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ขอให้ OECD สนับสนุนการดำเนินงานของไทย ผ่านการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี (ฺBest Practice) ในด้านต่าง ๆ อาทิ การปฏิรูปโครงสร้างภาษี (Tax Structure Reform) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การขจัดอุปสรรคทางการค้าสำหรับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Product) และการพัฒนาระบบซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต
ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายแสดงความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิด โดย สศช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการ CP2 อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อทั้งสองฝ่ายจะได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในโอกาสแรก ทั้งนี้ การดำเนินโครงการ CP2 จะช่วยให้ไทยสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD ซึ่งจะช่วยพัฒนาและยกระดับแนวทางการพัฒนา การปฏิรูปกฎระเบียบและมาตรฐานภายในประเทศของไทยให้ทัดเทียมสากล รวมถึงช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไทยกับ OECD ให้ครอบคลุมประเด็นนโยบายที่กว้างขึ้น และทำให้ไทยเข้าใกล้การเป็นสมาชิก OECD มากยิ่งขึ้น