กลุ่มเปราะบางท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“คนยากจน คนที่เปราะบาง และคนที่หิวโหย กลับต้องเผชิญกับความเป็นจริงอันเลวร้ายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการดำรงชีวิตในแต่ละวัน พูดตรงไปตรงมาก็คือ คนยากจนของโลกกำลังได้รับอันตรายจากปัญหาที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ก่อ” – Archbishop Desmond Tutu
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate risk) มากกว่ากลุ่มคนทั่วไป จึงต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate justice) ที่ต้องคำนึงถึงความเสมอภาคและสิทธิมนุษยชนเป็นแกนหลักของการตัดสินใจและการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมด้วย
“คนบางกลุ่มเผชิญภัยคุกคามมากกว่า” ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์อย่างซับซ้อนและหลากหลาย โดยมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลกระทบแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความเปราะบาง ปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ และความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยเฉพาะผู้ที่ถูกจำกัดโดยความยากจน จะเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้น
โดยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสุขภาพนั้น มีความเชื่อมโยงระหว่างความเสี่ยงจากภัย (Hazard) ความเปราะบาง (Vulnerability) และการเผชิญความเสี่ยง (Exposure) ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งมีปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ เพศ ความสามารถในการเข้าถึงบริการ สถานะทางสังคม และเศรษฐกิจ ตลอดจนระบบสุขภาพ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบ 2 ประเภท คือ ผลกระทบเชิงสุขภาพเช่น การเจ็บป่วยจากโรคระบาด การย้ายถิ่นฐาน และความขัดแย้ง และผลกระทบต่อระบบ เช่น ภาระของระบบสุขภาพ ระบบอาหาร และระบบการดำรงชีวิต ดังนั้น การลดความเปราะบางและความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสุขภาพแบบองค์รวมได้
ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสุขภาพจิต จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลากหลายระดับ เนื่องจากมีความเชื่อมโยงและมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน ดังนี้
1. ภัย (Hazard) โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เหตุการณ์เฉียบพลัน เช่น พายุ อุทกภัย ไฟป่า และคลื่นความร้อนรุนแรง และการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว เช่น ภัยแล้ง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)
2. ความเปราะบาง (Vulnerability) ประกอบด้วยปัจจัยทางกายภาพและสังคม เช่น สภาพทางสุขภาพเดิม ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ เพศ อายุ และอาชีพ
3. การเผชิญความเสี่ยง (Exposure) ทั้งการเผชิญความเสี่ยงโดยตรง เช่น การได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง การเผชิญความเสี่ยงโดยอ้อม เช่น การถูกย้ายถิ่นฐานหรือการเปลี่ยนแปลงระบบการดำรงชีวิต และการเผชิญความเสี่ยงในลักษณะรับรู้ข้อมูล เช่น จากสื่อหรือการสังเกตประสบการณ์ของผู้อื่น
4. การตอบสนอง (Response) ทั้งในระดับสถาบัน เช่น การพัฒนาระบบสุขภาพจิตที่มีประสิทธิภาพ และมาตรการรับมือภัยพิบัติ ในระดับชุมชน เช่น เครือข่ายสนับสนุนทางสังคม และช่องทางรับข่าวสารที่เข้าถึงง่าย และในระดับบุคคล เช่น การเตรียมความพร้อม การรับการสนับสนุนทางสุขภาพจิต และการใช้ธรรมชาติบำบัด
5. ความเสี่ยงต่อสุขภาพจิต ซึ่งครอบคลุมโรคทางจิตเวช ความเครียด และความสัมพันธ์ทางสังคมที่ลดลง
ดังนั้น การจัดการกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสุขภาพต้องพิจารณาในหลายมิติ ทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเปราะบาง การเผชิญความเสี่ยง และการตอบสนองในระดับสถาบัน ชุมชน และบุคคล เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ สามารถวางแผน และดำเนินการเพื่อรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมในระยะยาว
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังบั่นทอนความก้าวหน้าด้านสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ทั้งสิทธิในสุขภาพ สิทธิในอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย และทรัพย์สิน รวมทั้งสิทธิที่เชื่อมโยงกับการทำมาหากิน และวัฒนธรรมก็ล้วนได้รับผลกระทบ ความท้าทายของพวกเรา คือการสร้างความรับผิดชอบตรวจสอบได้ต่อสิทธิมนุษยชน ใส่ไว้ในความพยายามแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต การทำเช่นนี้จะทำให้เราเข้าใจได้ดีขึ้นว่า ใครเป็นคนที่เผชิญความเสี่ยงมากที่สุด และเราควรจะทำอย่างไรจึงจะปกป้องเขาเหล่านั้นได้” – Mary Robinson 2552
ความสอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs
SDG3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย
SDG13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้น
เอกสารอ้างอิง
- สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP). (2555). ความเป็นธรรมทางภูมิอากาศเพื่อโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงประเด็นพื้นฐานสำหรับผู้กำหนดนโยบายและภาคประชาสังคม. สืบค้นจาก https://www.undp.org/sites/g/files/zskgke326/files/migration/th/UNDP_TH_Climate-Justice.pdf
- United Nations Development Programme Thailand. (2566). พจนานุกรมสภาพภูมิอากาศ : คู่มือคำศัพท์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. สืบค้นจาก https://www.undp.org/thailand/blog/climate-dictionary
- IPCC Sixth Assessment Report. (2565). Health, Wellbeing and the Changing Structure of Communities. สืบค้นจาก https://www.ipcc.ch/report/ar6/wg2/chapter/chapter-7/
- สร้างเมืองใหม่ ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ. สืบค้นจาก https://tdri.or.th/2024/10/tdri-ac-2024-session3/