“ป่า” ถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นในแง่การใช้ประโยชน์จากผืนป่าหรือช่วยรักษาสมดุลของสภาพแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมของพันธุ์พืชและเป็นบ้านของสัตว์น้อยใหญ่นานาชนิด ทว่าในปัจจุบัน เรากลับเห็นการทำลายป่าไม้มากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ไปจนถึงส่งผลลบต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในภาพรวม
โครงการ “คน ผึ้ง ป่า” จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดย “คน” กับ “ผึ้ง” จะช่วยกันสร้างความยั่งยืนให้ “ป่า” ซึ่งจะทั้งก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงทางอาหาร ช่วยรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงสนับสนุนการประกอบอาชีพของชาวบ้านในชุมชน
ในโครงการนี้ “คน” จะมีบทบาทสำคัญในการร่วมมือและร่วมแรงเพื่อพัฒนา รักษา และฟื้นฟูสภาพผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ “ผึ้ง” มีหน้าที่สำคัญในการผสมเกสร ซึ่งจะส่งผลทั้งในด้านการเกษตรและความหลากหลายของพืชพรรณในป่า ทั้งนี้ เมื่อผึ้งไม่ถูกรุกรานที่อยู่อาศัยจากการตัดไม้ทำลายป่าและไม่ถูกรบกวนด้วยสารเคมีจากอุตสาหกรรมแล้ว ผึ้งยังจะสามารถผลิตน้ำผึ้งแท้บริสุทธิ์เพื่อให้ชาวบ้านนำไปประกอบอาชีพต่อไปได้ด้วย ซึ่งความร่วมมือของคนกับผึ้งจะนำไปสู่ความอุดมสมบูรณ์และความยั่งยืนของ “ป่า” ในที่สุด
ตัวอย่างพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการทำโครงการ “คน ผึ้ง ป่า” คือ ชุมชนบ้านไสใหญ่ ตำบลอ่าวตง อำเภอวังวิเศษ ที่สามารถก้าวไปสู่การเป็นชุมชนต้นแบบในการปรับตัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งชุมชนบ้านไสใหญ่ยังได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ปี 2560 – 2561 และอีกหนึ่งผลพลอยได้จากการทำโครงการนี้คือ เมื่อผืนป่าอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้ค้นพบนกแต้วแร้วท้องดำที่ใกล้จะสูญพันธุ์เพิ่มขึ้นด้วย
อีกหนึ่งชุมชนคือ บ้านห้วยหินลาด อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นบ้านของกลุ่มชาวปกาเกอะญอ โดยชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำผึ้งมากมาย ทั้งการนำมาประกอบอาหาร ยา หรือส่งออก “น้ำผึ้งหินลาด” ซึ่งเป็นสินค้าที่ถูกออกแบบโดยมีฐานจากภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่เพื่อให้ดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน
สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก: https://www.thecountryman.org/post/wild-honey
https://www.bangkokbiznews.com/advertorials/health/1050
ที่มารูปภาพ: Wild honey : คน ผึ้ง ป่า (thecountryman.org)
ชีวิตสังคมผึ้งบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของป่า: สวพส. (hrdi.or.th)
เรียบเรียงโดย: นายทศพร ไทรทอง