You are currently viewing งานเสวนาออนไลน์ “ก้าวพอดี 2564: ฟื้นตัวอย่างมั่นคง ก้าวต่ออย่างยั่งยืน”

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ “ก้าวพอดี 2564 ฟื้นตัวอย่างมั่นคง ก้าวต่ออย่างยั่งยืน (A Bright Leap Forward 2021: Resilient and Sustainable Growth)” ระหว่างวันที่ 8 – 9 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ผ่านทาง Zoom Webinar และ Facebook Live (https://www.facebook.com/DPorDesign/) ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดพื้นที่ให้ตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ทบทวนและถอดบทเรียนการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงแสดงวิสัยทัศน์และข้อเสนอแนะสำหรับการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทยในทศวรรษข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สหประชาชาติ (United Nations) กำหนดให้เป็น “ทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจัง (Decade of Action)” เพื่อมุ่งไปสู่การบรรลุ SDGs ภายในปี 2030 โดยรายละเอียดของกิจกรรมในงานก้าวพอดี 2564 มีดังนี้

การกล่าวเปิดงาน โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเน้นย้ำถึงแนวทางการพัฒนาของประเทศไทยที่จะต้องเป็น “การก้าวใหม่ที่ดีกว่าเดิม” ภายใต้ SDGs ที่สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวอย่างมั่นคงและเป็นองค์รวมในทุกมิติ ควบคู่กับการสร้างโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันเพื่อเติบโต โดยตั้งอยู่บนพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ (1) การสร้างความตระหนักรู้เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (2) การถ่ายทอด SDGs ระดับชาติสู่การปฏิบัติจริงในระดับพื้นที่ (SDG Localization) และ (3) การแสวงหาพลังร่วมเพื่อมุ่งสู่การบรรลุ SDGs (คลิกที่นี่ เพื่อรับชมวีดีโอ)

ด้าน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs ซึ่งจะเป็นแนวทางสนับสนุนการฟื้นฟูประเทศจากวิกฤตโควิด-19 อย่างยั่งยืนผ่านแนวทางต่าง ๆ เช่น การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก การเพิ่มขีดความสามารถของภาคการผลิต พร้อมทั้งกล่าวถึงระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าที่สหประชาชาติกำหนดให้เป็นทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจัง ที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมบูรณาการ ประสานความร่วมมือและลงมือทำอย่างจริงจังในทุกระดับเพื่อให้บรรลุ SDGs (คลิกที่นี่ เพื่อรับชมวีดีโอ)

ความสำคัญของภาคีเครือข่ายยังถูกเน้นย้ำในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ “ก้าวพร้อมกัน: ภาคีการพัฒนาเพื่อการขับเคลื่อน SDGs” โดย ศาสตราจารย์ ดร. สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยังได้กล่าวถึงคุณลักษณะสำคัญ 3 ประการที่จะช่วยให้การมีส่วนร่วมของภาคีเพื่อการพัฒนาเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพขึ้น ได้แก่ (1) มีเป้าหมายแน่ชัด คือมีการกำหนดวิสัยทัศน์ ผลที่คาดว่าจะได้รับ และแผนการดำเนินการร่วมกันที่ชัดเจน (2) มีความครอบคลุม คือส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และ (3) มีการประสานพลัง เพื่อให้การดำเนินการร่วมกันระหว่างแต่ละภาคส่วนมีเอกภาพโดยใช้จุดเด่นหรือความเชี่ยวชาญของแต่ละภาคส่วนในการปิดช่องว่างให้แก่กันและกัน (คลิกที่นี่ เพื่อรับชมวีดีโอ)

หนึ่งในภาคีเพื่อการพัฒนาที่สำคัญและมีบทบาทอย่างมากคือเยาวชน ทว่าเยาวชนกลับยังไม่ถูกรวมเข้ามาในเรื่องการขับเคลื่อน SDGs มากนัก ซึ่ง ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ชี้ให้เห็นว่า เยาวชนจะเป็นผู้เชื่อมภาพปัจจุบันของ SDGs ไปสู่ภาพอนาคตที่ดีกว่า จึงควรมีนโยบายให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อน SDGs อย่างจริงจัง ทั้งยังต้องสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เยาวชนอยากจะเปลี่ยนกรอบความคิดของตนเองไปสู่การคิดถึงส่วนรวมมากขึ้นและมี growth mindset อีกทั้งผู้ใหญ่ยังต้องช่วยเสริมพลังให้เยาวชนผนึกกำลังร่วมกันเพื่อตอบโจทย์ของโลกที่ยั่งยืน สังคมที่ยุติธรรม เพื่อเดินหน้าไปด้วยกันและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเพื่อตอบโจทย์ภาพใหญ่ของ SDGs ต่อไป (คลิกที่นี่ เพื่อรับชมวีดีโอ)

ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ของไทยคือ การจัดทำ รายงานความก้าวหน้าเป้าหมาย SDGs ของประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2563 (คลิกที่นี่ เพื่อดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม)  โดย นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้ให้เห็นว่าการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทยมีความก้าวหน้าในหลายประเด็น เช่น เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ ในขณะเดียวกันก็ยังมีความท้าทายอีกหลายประเด็น เช่น ประเด็นที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน รวมถึงความท้าทายด้านข้อมูลที่บางตัวชี้วัดยังไม่สอดคล้องกับตัวชี้วัดและระเบียบวิธีการที่กำหนดโดยสหประชาชาติและมีข้อจำกัดในด้านการจัดเก็บข้อมูล รายงานฉบับดังกล่าวจึงได้ให้ข้อเสนอแนะสำคัญ 5 ประการเพื่อดำเนินการขับเคลื่อน SDGs ในอีก 10 ปีต่อจากนี้ ได้แก่ (1) เร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาและปรับปรุงสถานการณ์ในเป้าหมายย่อยที่มีสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤต (2) บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน (3) สร้างความตระหนักรู้ (4) พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง และ (5) เตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น (คลิกที่นี่ เพื่อรับชมวีดีโอ)

อีกหนึ่งการดำเนินการสำคัญคือ การรายงาน Voluntary National Review ของประเทศไทย โดย ดร. ณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในช่วงของการนำเสนอการรายงาน Voluntary National Review ปี พ.ศ. 2564 ว่า วิกฤตโควิด-19 ยิ่งเน้นย้ำความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความสมดุลของทุกสิ่ง ทั้งมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม การกระจายรายได้ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม และความปลอดภัยสำหรับทุกคน พร้อมทั้งเสริมว่าการพัฒนาของไทยในก้าวต่อจากนี้จะเกิดจากการร้อยเรียงและเชื่อมโยง 3 คำ คือ SEP, BCG และ SDGs เข้าไว้ด้วยกัน (คลิกที่นี่ เพื่อรับชมวีดีโอ)

อีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญของงานคือ การเปิดเวทีเสวนาให้ตัวแทนจากแต่ละภาคีเพื่อการพัฒนาได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และวิสัยทัศน์ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อน SDGs โดยแต่ละเวทีเสวนามีรายละเอียด ดังนี้

1. เวทีเสวนา “ฟื้นตัวอย่างมั่นคง ก้าวต่ออย่างยั่งยืน (Resilient and Sustainable Growth)”

ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายภาคส่วนที่ร่วมเป็นภาคีการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs มี ดร. วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยในมุมตัวแทนองค์การระหว่างประเทศ Ms. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand กล่าวถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของพลเมือง (civic engagement) และทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาในระดับชาติ การลงทุนในอนาคต และเรื่องการเงินยั่งยืนเพื่อจะบรรลุเป้าหมายร่วมกัน สำหรับประเทศไทย ประเด็นสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจที่ครอบคลุมซึ่งตั้งอยู่บนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาสีเขียว และการพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ รวมถึงการลงทุนในทุนมนุษย์และบทบาทของการศึกษา ซึ่งสะเต็มศึกษา (STEM) และเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) จะมีบทบาทสำคัญมาก อีกประเด็นคือ เป้าหมาย SDGs ถูกสะท้อนให้เห็นในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่คำนึงถึงเรื่องการล้มแล้วลุกไว (resilience) การดูแลสิ่งแวดล้อม และวิธีการแก้ปัญหาที่มีชุมชนเป็นผู้นำ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ถูกสะท้อนใน SDGs ในระดับโลกเช่นกัน อย่างไรก็ดี การดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs ถูกท้าทายด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในประเด็นความเหลื่อมล้ำ ประกอบกับการที่โลกเปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ เช่น สภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลต่อการพัฒนาในอนาคต จึงเป็นเหตุผลที่ทุกภาคส่วนควรจะต้องทำงานร่วมกันในการสร้างอนาคตที่เป็นธรรม ยั่งยืน และยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าเดิม 

ตัวแทนจากภาคเอกชน นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจสนใจเรื่องเป้าหมาย SDGs มามากกว่า ๕ ปี สะท้อนผ่านเสาหลัก ESG ในภาคธุรกิจ (Environment, Social, Government) ซึ่งเป็นเสาหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคเอกชน เช่น การบริหารจัดการพลังงานหรือเรื่องการจ้างงานผู้พิการ สำหรับทิศทางของภาคเอกชนในการร่วมขับเคลื่อนประเทศไปสู่ทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจัง นายวิชัยเสนอให้มีการสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถดึงเอาทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน และใช้จุดเด่นของตนเองให้เป็นประโยชน์ ที่สำคัญคือต้องคำนึงถึงความพร้อมของชุมชนหรือกลุ่มคนที่จะเข้าไปช่วยเหลือ และต้องทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและเกิดการมีส่วนร่วมขึ้นให้ได้ ขณะที่ นางสาวเพียงพลอย จิตรปิยธรรม Strategy Manager ทีม SATARANA และผู้ร่วมก่อตั้ง Locall Thailand กล่าวถึงจุดแข็งของภาคประชาสังคมว่า ภาคประชาสังคมสามารถเข้าถึงกลุ่มที่ถูกทิ้งหรือกลุ่มคนตัวเล็กได้มากที่สุด และจะมีส่วนช่วยทำให้คนกลุ่มนี้เห็นว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นกัน นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมยังสามารถช่วยสร้างสมดุลกับภาคส่วนอื่น ๆ ให้เห็นมุมมองที่แตกต่างออกไปและก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงเพราะความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะยั่งยืนได้ต้องมาจากการรวมกลุ่มกันแก้ปัญหาซึ่งจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและยึดโยงร่วมกันและในปัจจุบัน ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเริ่มมีบทบาทการทำงานที่ทับซ้อนกันมากขึ้น และมี “การทำงานเป็นทีม” ร่วมกับภาครัฐมากขึ้น เพราะแต่ละภาคส่วนล้วนมีจุดเด่นของตนเอง อย่างไรก็ดี ภาครัฐควรเปิดให้มีการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น เพื่อให้แต่ละภาคส่วนรู้ว่าตนเองควรมีบทบาทในการแก้ปัญหาแต่ละเรื่องอย่างไร (คลิกที่นี่ เพื่อรับชมวีดีโอ)

2. เวทีเสวนา “การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP for SDGs)

เป็นเวทีที่แสดงให้เห็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานระหว่างภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่บนฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งถ่ายทอดวิธีคิดและหลักคิดในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สุขอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ดังที่ ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวในช่วงเปิดเวทีเสวนา สรุปความได้ว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเน้นการพัฒนาบนพื้นฐานของทางสายกลาง ความไม่ประมาท และความมีเหตุผล โดยเฉพาะการใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ดังนั้น การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และกระบวนการพัฒนาประเทศให้เกิด Build Back Better มีความสมดุลในมิติคน สิ่งแวดล้อม และความมั่งคั่ง จะมีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางกรอบการพัฒนาที่มีดุลยภาพระหว่างมิติทางเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างเกื้อกูลกัน โดยมี เวทีย่อย“จากนโยบาย…สู่ปฏิบัติการจริง ในพื้นที่ SDG LAB ภาคตะวันออกยั่งยืน”ซึ่งได้ดำเนินโครงการการขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราในประเด็นที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศและจังหวัดบนฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ เวทีย่อย “PRIDE OF THONBURI การสานพลังทางสังคม เมืองฝั่งธนฯ พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” ซึ่งได้แสดงตัวอย่างการนำแนวคิดการดำเนินการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDG) ที่มีตัวชี้วัดและการวัดผลลัพธ์ชัดเจนไปปฏิบัติจริงในการพัฒนาพื้นที่ฝั่งธนบุรีให้เป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีอัตลักษณ์และจัดการตนเองได้ (คลิกที่นี่ เพื่อรับชมวีดีโอ)

3. เวทีเสวนา “บทบาทของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

อีกหนึ่งภาคส่วนสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อน SDGs คือภาคเอกชน โดยในเวทีเสวนา “บทบาทของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ตัวแทนจากภาคเอกชนร่วมแบ่งปันการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อน SDGs โดยผู้ร่วมเสวนาท่านแรกคือ คุณณัฐวุฒิ อินทรส Sustainable Development Deputy Director บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ได้กล่าวถึงบทบาทของบริษัทฯ ในการผลักดันเรื่อง net zero รวมถึงทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของภาครัฐ ขณะที่ คุณศศิโณทัย โรจนุตมะ ผู้จัดการฝ่ายความยั่งยืน บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้อธิบายถึงบทบาทของบริษัทฯ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเน้นไปที่การรีไซเคิลและเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้าน คุณปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนประจำภูมิภาคเอเชีย บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ได้นำเสนอกลยุทธ์ SeaChange เพื่อการเปลี่ยนแปลงท้องทะเลอย่างยั่งยืน โดยเน้นที่เป้าหมาย SDG ข้อ 2,8,13 และ 14 และผู้ร่วมเสวนาท่านสุดท้าย คุณธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เน้นย้ำถึงการผนึกกำลังและมีส่วนร่วมกันในกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ซึ่งทางสมาคมฯ ได้มีการสื่อสารทางออนไลน์เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ได้ในองค์กร และมุ่งมั่นสร้างความตระหนักรู้ผ่านสื่อวิชาการต่าง ๆ นอกจากนี้ปัจจุบันผู้บริโภคและพนักงานคาดหวังกับองค์กรต่าง ๆ มากขึ้นว่าจะสามารถปกป้องสิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างยั่งยืน และไม่ว่าบริษัทจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็สามารถมีส่วนร่วมในเรื่องความยั่งยืนได้ (คลิกที่นี่ เพื่อรับชมวีดีโอ)

4. เวทีเสวนา “Youth In Charge, SDG In Action: จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่”

เป็นเวทีที่เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ร่วมส่งเสียงเกี่ยวกับประเด็นที่ตนเองสนใจขับเคลื่อนและถ่ายทอดมุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและ SDGs โดย นางสาวปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา ผู้สนใจและขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสุขภาพจิตในกลุ่มเด็กและเยาวชน แสดงความคิดเห็นว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนหมายถึงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในระยะยาว วางยุทธศาสตร์ในรูปแบบที่ทั้งสามารถก้าวเดินไปข้างหน้า และคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับความเห็นของ นางสาวฐิติกาญจน์ จึงธีรพานิช เยาวชนผู้ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งมองว่า ประเทศต้องมีความพร้อมจึงจะขับเคลื่อน SDGs ได้ และแม้ประเทศไทยจะมีการผลักดันเรื่อง SDGs มากขึ้น แต่ก็เป็นเพียงการสร้างความตระหนักรู้ที่ยังไม่เกิดการปฏิบัติจริงเท่าไหร่ ขณะที่ นางสาวสุวรรณา จำแนกวงษ์ ผู้ขับเคลื่อนประเด็นด้านการเพิ่มรายได้ให้เยาวชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำมองว่า ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมไทยปัจจุบันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลาแก้นาน การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นระบบการจัดการปัญหาที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง และพัฒนากระบวนการให้เหมาะสมกับลักษณะของปัญหาที่เปลี่ยนไป และ นางสาวเอริกา เมษินทรีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิน เดอะ ลีด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด สรุปว่า SDGs เป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญมาก แต่มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น ทั้งที่เยาวชนเป็นกลุ่มที่สนใจ SDGs ไม่แพ้กลุ่มอื่น จึงควรมีการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างพันธมิตรขับเคลื่อน SDGs อย่างเป็นรูปธรรม และทุกภาคส่วนควรเห็นความสำคัญของการพัฒนาเยาวชน เพราะเยาวชนคือผู้นำและความหวังของประเทศในอนาคต (คลิกที่นี่ เพื่อรับชมวีดีโอ)

5. เวทีเสวนา “ภาคประชาสังคมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน”

เวทีเสวนา “ภาคประชาสังคมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นพื้นที่ที่ตัวแทนจากภาคประชาสังคมและภาควิชาการได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนและอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทการขับเคลื่อน SDGs ในหลายประเด็น โดย นางวภีพร ธรรมมา ผู้แทนเครือข่ายผู้หญิงเพื่อการจัดการโลกร้อนอย่างเป็นธรรม ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อผลผลิตทางการเกษตรและสุขภาพของมนุษย์ ด้าน นายปฏิทิน ญาณอัมพร ผู้แทนโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย ซึ่งได้ไปปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขที่ประเทศภูฏาน ร่วมแบ่งปันประสบการณ์สำคัญที่ได้จากการทำงานอาสาในต่างประเทศว่า เป็นการเปิดใจยอมรับความแตกต่างและเรียนรู้ในการเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ขณะที่ตัวแทนจากภาควิชาการอย่าง ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นในมุมมองของผู้ทำงานด้านผังเมืองว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเป้าหมายใหญ่ของการวางผังในทุกระดับ เพราะต้องคำนึงถึงความสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกประเด็นสำคัญคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่ง นางสาวอลิสา ศิวาธร ผู้แทนจากสมาคมพิทักษ์สิทธิคนพิการ ฉายภาพว่า แม้สังคมไทยจะเป็นสังคมที่มีการพึ่งพาอาศัยและอยู่ร่วมกันได้ แต่คนพิการยังถูกหลงลืมจากมิติการพัฒนาของภาครัฐอยู่ดี โดยนางสาวอลิสามองว่า หากมีการรวมคนพิการเข้าไปในเป้าหมาย SDGs โดยเฉพาะในเป้าหมายที่ 10 และ 11 จะยิ่งส่งผลต่อการพัฒนาเป้าหมายอื่นให้ดีขึ้นและง่ายขึ้น จึงอยากส่งเสียงถึงภาครัฐให้เชิญคนพิการเข้าไปร่วมวางแผนหรือแสดงความคิดเห็นเชิงนโยบายด้วย ในตอนท้าย นางสาวแคทรียา ปทุมรส ผู้อำนวยการกองกิจการเพื่อการพัฒนา กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สรุปว่า การมีส่วนร่วมเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง และคนที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากคือภาครัฐในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศต่อไปได้ (คลิกที่นี่ เพื่อรับชมวีดีโอ)

6. เวทีเสวนา “พื้นที่เข้มแข็ง เพื่อก้าวต่ออย่างยั่งยืน”

บทบาทสำคัญของภาคประชาสังคมยังถูกเน้นย้ำในเวทีเสวนาที่ 6 โดย ฟรานเชสก้า จิลลี่ ผู้ช่วยเลขานุการ ฝ่ายความร่วมมือ สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เสนอว่าการบรรลุ SDGs ควรจะเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นโดยมีภาคประชาสังคมเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ และในเวทีเสวนานี้ยังมีการแบ่งปันเรื่องราวจากผู้ที่ทำงานขับเคลื่อนในระดับพื้นที่จริง ประกอบด้วย ดร. สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ บริษัทปลาออร์แกนิกวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ทำงานกับกลุ่มชาวประมงซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชายขอบของสังคม เปิดตลาดให้ชาวประมงพื้นบ้านนำสัตว์น้ำที่จับได้มาขายรวมถึงส่งเสริมเรื่องการตลาดในแบบต่าง ๆ โดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติและมีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน และ นายพชร คำชำนาญ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เล่าเรื่อง “น้ำพางโมเดล” ที่ชาวบ้านในตำบลน้ำพาง จังหวัดน่าน ลุกขึ้นมาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง สร้างพื้นที่เศรษฐกิจในชุมชนให้เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืนโดยการปลูกกาแฟอราบิก้าและเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งจะเป็นทั้งการตอบโจทย์ความยากจน ขจัดความหิวโหย ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปกป้องระบบนิเวศบนบก 

ด้าน นางสาวอัฟนาน สาแม กลุ่มเยาวชนบ้านสาคอ จังหวัดยะลา กล่าวถึงการทำโครงการกับเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาและเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้ได้เรียนในการศึกษานอกระบบหรือสายอาชีพ รวมถึงหาแนวทางอื่น ๆ ให้เด็กที่ไม่ประสงค์จะศึกษาต่อ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนเป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรี และเด็กหญิงทุกคน เพราะมีผู้หญิงจำนวนมากที่เข้ามาร่วมเป็นตัวแทนชุมชน ขณะที่ตัวแทนจากภาครัฐ ดร. ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แบ่งปันบทบาทการดำเนินการของภาครัฐในการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ ซึ่งจะต้องให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและมีตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงการลงไปทำงานขับเคลื่อนในพื้นที่จริง ในตอนท้าย ดร.จุฑาทิพย์ มณีพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญ โครงการส่งเสริมภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนวาระเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหภาพยุโรป กล่าวสรุปว่า SDGs ไม่ใช่เรื่องของการจัดทำรายงานหรือกำหนดนโยบาย แต่ต้องทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนที่จะต้องมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา มีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของและใช้สิทธิร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาไปพร้อมกัน (คลิกที่นี่ เพื่อรับชมวีดีโอ)

7. ช่วง “Share your SDG Story”

นอกจากนี้ งานก้าวพอดี 2564 ยังมีเวทีเสวนาพิเศษที่เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในระดับระหว่างประเทศ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมแบ่งปันเรื่องราวการพัฒนาที่ยั่งยืนของตนเอง โดยตัวแทนจากองค์การระหว่างประเทศคือ Mr. Renaud Meyer, UNDP Resident Representative to Thailand ที่กล่าวถึงบทบาทของ UNDP ในฐานะหุ้นส่วนการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ รวมถึงเน้นย้ำบทบาทสำคัญของทุกภาคส่วนในการร่วมขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย ขณะที่ในระดับประเทศ นายเรวัต นิยมวงศ์ ประธานศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านชากไทย จังหวัดจันทบุรี นำเสนอ “บ้านชากไทยโมเดล” ที่ช่วยแก้ปัญหาหนี้ซ้ำซ้อนและหนี้หมุนเวียนในชุมชนผ่านระบบการจัดการร่วมกันควบคู่ไปกับการส่งเสริมวินัยทางการเงิน และนายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ที่แบ่งปันเรื่องราวของโครงการ “หนึ่งไร่หนึ่งล้าน” ซึ่งภาคเอกชนนำความรู้ด้านการบริหารจัดการและการตลาดเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในชุมชนจนเกิดเป็นโครงการปลูกกาแฟโรบัสต้าในจังหวัดน่าน และกำลังขยายผลโครงการเลี้ยงปลาระบบปิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อแก้ปัญหาพยาธิใบไม้ตับ อันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ และสร้างความยั่งยืนให้เกษตรกรตามเป้าหมายที่วางไว้ (คลิกที่นี่ เพื่อรับชมวีดีโอ)

ทั้งนี้ท่านสามารถร่วมรับชมผลงานการขับเคลื่อน SDGs จากภาครัฐ และภาคีเครือข่ายผ่านทางเว็บไซต์ “ประเทศไทยกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ได้ที่ (https://sdgs.nesdc.go.th)