You are currently viewing <strong>จับตาการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศ COP 29 รับมือโลกเดือด</strong>

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 นี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การประชุม COP ในทุก ๆ ปี ชี้ให้เห็นถึงแง่มุมของการต่อสู้ที่จะกำหนดชะตาของสิ่งแวดล้อมกับมนุษย์ รวมทั้งความเคลื่อนไหวจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง โดยในปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นสมัยที่ 29 (COP 29) ระหว่างวันที่ 11 – 22 พ.ย. 2567 ที่จะถึงนี้  ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน วาระสำคัญในการประชุม Cop 29 จะมีการผลักดันในเรื่องการลดเลิกใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิลซึ่งจะมีผลกระทบต่ออาเซอร์ไปจานอย่างมากเนื่องจากเป็นมีรายได้จากการเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งมีอำนาจต่อรองทางการเมืองอย่างมาก อย่างไรก็ตามผลสรุปการประชุม COP 29 และความเคลื่อนไหวในอนาคตจะแสดงให้เห็นถึงจุดยืนและวิสัยทัศน์ของอาเซอร์ไบจานในประเด็นเรื่องการเร่งรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันกับประเทศทั่วโลก

In Solidarity for a Green World” หรือ “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อโลกสีเขียว”

จะถูกใช้เป็นหัวข้อหลัก (theme) และจะถูกเผยแพร่ไว้ในสารแถลงการณ์วิสัยทัศน์ของประธานการประชุม COP 29 คือ นายมุคธาร์ บาบาเยฟ (Mukhtar Babayev) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงนิเวศวิทยาและทรัพยากรธรรมชาติของอาเซอร์ไบจานโดยสารนั้นชี้แจงเกี่ยวกับรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมที่จะจัดขึ้น สามารถสรุปได้ดังนี้ (สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ (2567)) การประชุม COP 29 ถือเป็นการยกระดับความมุ่งมั่น (Enhance Ambition) และสนับสนุนการดําเนินงาน (Enable Action) ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใน 2 เสาหลัก คือ

เสาหลักที่ 1 การยกระดับความมุ่งมั่น ครอบคลุมการจัดทํานโยบายและแผนงานที่ชัดเจนในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยดำเนินการจัดทําเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด (Nationality Determined Contribution : NDC) การจัดทําแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan : NAP) การจัดทํารายงานความโปร่งใสรายสองปี (Biennial Transparency Report : BTR) ที่มีประสิทธิภาพและแสดงถึงความทะเยอทะยาน

เสาหลักที่ 2) การสนับสนุนการดําเนินงานครอบคลุมกลไกการสนับสนุน (Means of Implementation) เช่น การเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพ การจัดทําเป้าหมายทางการเงินใหม่ที่เป็นธรรม (New Collective Quantified Goal on Climate Finance : NCQG) การยกระดับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการจัดทําเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนดฉบับที่ 2 (NDC 3.0) ซึ่งมีกําหนดจัดส่งในปี  ค.ศ. 2025 การจัดทําตัวชี้วัดภายใต้เป้าหมายการปรับตัวระดับโลก การดําเนินงานของกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย

ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของสองเสาหลักดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของโลกที่หลายประเทศภาคีร่วมมือกันทำอย่างต่อเนื่องและมีส่วนช่วยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

การประชุม COP 29 จึงเป็นเวทีสำคัญระดับนานาชาติที่จับตามองสำหรับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชนที่มีบทบาทในการจัดหาเงินทุนและดำเนินการโครงการพลังงานสะอาด องค์กรประชาสังคมหรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไป การร่วมมือจากทุกภาคส่วนล้วนเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง  

ประเด็นหลักสำคัญที่น่าจับตาในการประชุม COP 29

การกำหนดเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศที่ต้องการเงินทุนด้านสภาพอากาศ
การประชุมครั้งนี้จะมุ่งประเด็นไปที่การหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าใน “ข้อตกลงทางการเงินด้านสภาพอากาศ” ที่มีการขับเคลื่อนต่อจาก COP 28 ซึ่งสอดคล้องกับหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละประเทศภาคี (Common but differentiated responsibilities and respective capabilities, in the light of different national circumstances) ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement)

เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ประเทศต่าง ๆจะอภิปรายสรุปข้อตกลงเกี่ยวกับ การกำหนดเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance หรือ NCQG) หารือแนวทางการระดมทุนจากประเทศที่พัฒนาแล้วเพื่อมาสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อดำเนินการโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศให้บรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส เริ่มตั้งแต่เป้าหมายเชิงปริมาณใหม่และฐานผู้สนับสนุนไปจนถึงขอบเขตของการเงินที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป้าหมายทางการเงินที่กำหนดไว้ในปี 2009 คือ 100,000 ล้านดอลลาร์ (91,400 ล้านยูโร) ต่อปีภายในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งทำสำเร็จแล้วในปี ค.ศ. 2022 แต่เมื่อวิกฤตโลกเดือดที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ความต้องการของจำนวนเงินทุนเพื่อสภาพอากาศในขณะนี้จึงเพิ่มมากขึ้นอยู่ที่ประมาณ 500,000 ล้านดอลลาร์ ถึงมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี จึงต้องมาอภิปรายรายละเอียดกันในเวทีประชุม COP 29 นี้ โดย NCQG จะเน้นย้ำถึงความจําเป็นในการใช้กลไกทางการเงินที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องเพียงพอกับปริมาณความต้องการแหล่งเงินทุนด้านสภาพอากาศของประเทศต่าง ๆ รวมถึงไม่สร้างปัญหาการชําระหนี้ในภายหลัง ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างทางการเงินในการดําเนินการด้านสภาพอากาศให้กับประเทศกําลังพัฒนาและเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากประเทศเหล่านี้ต้องการทรัพยากรทางการเงินสัมปทานที่มีบทบาทสามัญในการดําเนินการตามกลยุทธ์การบรรเทาผลกระทบ (Mitigation) และการปรับตัว (Adaptation)

การวางรากฐานสำหรับ NDC ที่แข็งแกร่งขึ้น

ภายใต้ข้อตกลงปารีสที่ได้ลงนามอย่างเป็นทางการไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ประเทศภาคีสมาชิกจะต้องส่ง Nationally Determined Contributions (NDC) รายงานที่ระบุแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เลขาธิการ UNFCCC ในทุก ๆ 5 ปี โดยรอบต่อไปจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ดังนั้น การประชุม COP29 จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องยกระดับมาตรฐานเป้าหมาย NDC ของตนให้มีความเข้มข้นขึ้น และเร่งรัดการลงมือทำจริง เช่น การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นสามเท่าและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นสองเท่าภายในปี 2030 การลดการใช้พลังงานถ่านหินและการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/environment/1129252

บทบาทของไทยในกรอบ COP และ SDGs

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นชุดเป้าหมายระดับโลกที่สมาชิกองค์กรสหประชาชาติ (UN) ได้ร่วมกันกำหนดไว้ 17 เป้าหมายหลัก เป็นกระแสสังคมที่ทั่วโลกตระหนักและดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และมีเป้าหมายที่จะบรรลุภายใน 15 ปี

ผศ.ชล บุญนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (www.SDGMove.com) (2567)กล่าวถึง สถานการณ์การบรรลุ SDGs ระดับโลก ภูมิภาค และระดับชาติ ดังนี้ สถานการณ์การบรรลุ SDGs ระดับโลกและภูมิภาคมีความล่าช้าเกินกว่าที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาในปี พ.ศ. 2573 โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย เป้าหมายที่ 14 ทรัพยากรทางทะเล จะเห็นว่ามีแถบสีแดงค่อนข้างใหญ่มาก ส่วนสถานการณ์การบรรลุ SDGs ของไทย ค้นพบว่ามีประเด็นวิกฤต ดังนี้ 1) เกษตรและอาหารไม่ยั่งยืน 2) ความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ 3) เศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมและไม่ยั่งยืน ต้องการการเปลี่ยนผ่านในภาคพลังงาน ภาคท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และอีกหลายภาคส่วน เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ลดของเสียอย่างเป็นธรรมกับทุกคน 4) การตั้งรับปรับตัวกับภัยพิบัติ 5) ระบบอภิบาลและกลไกการขับเคลื่อน และ 6) สุขภาวะและการพัฒนาศักยภาพ เช่น คุณภาพการศึกษา โรคติดต่อ/โรคไม่ติดต่อ สุขภาพจิต อุบัติเหตุทางถนน คือ 6 กลุ่มประเด็นซึ่งเป็นความท้าทายของไทย”  

ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า การประชุม COP 29 ที่อาเซอร์ไบจานเป็นรัฐเจ้าภาพนั้นถือเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการกระบวนการร่วมมือกันดำเนินงานในระดับโลกร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งคือเป้าหมายที่ 13 (การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ที่เชื่อมโยงกับประเด็นวิกฤตของประเทศไทยข้างต้นในหลายประเด็น โดยประเทศไทยจะได้มีโอกาสแสดงบทบาทการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับนานาชาติในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องสิ่งแวดล้อมของโลก ณ เวทีการประชุม COP 29 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมฯ

ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสารเกียวโต ความตกลงปารีส และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี 2050 (พ.ศ. 2593) และเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ในปี 2065 (พ.ศ. 2608) หากได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม

นอกจากนี้ การดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาฯ (UNFCCC) ของไทย ยังสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ทั้งกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ในยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม,  แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 18 การเติบโตอย่างยั่งยืน แผนย่อย 3 การเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) มุดหมายที่ 10 การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และหมุดหมายที่ 11 การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, แผนแม่บทการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558-2593 ด้านการปรับตัวฯ การลดก๊าซเรือนกระจก และการสร้างขีดความสามารถ, ร่างแผนการปรับตัวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAP) และแผนที่นําทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573

ความสอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs:

  • (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
  • (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
  • (13.3) พัฒนาการศึกษา ความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
  • (13.a) ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญและมีความโปร่งใสในการดำเนินงาน และทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินงานอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน (capitalization)
  • (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ
  • (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
  • (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
  • (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน