พื้นที่ที่ราบหุบเขาใน ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ห่างจากชายแดนประเทศสาธรณรัฐเมียนมาร์เพียงแค่ 6 กิโลเมตร มีหมู่บ้านเล็กๆ ของชนเผ่าอาข่าและลาหู่ที่อพยพเข้ามาอาศัยเมื่อปี พ.ศ. 2474 หรือ 88 ปีที่แล้ว คือ บ้านโป่งไฮและบ้านนาโต่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ปลูกชาและพืชไร่ ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง มีฐานะยากจน ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ภาครัฐจึงได้จัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบำรุงที่ 112 ที่หมู่บ้านโป่งไฮ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนาโต่ เพื่อทำงานด้านการข่าว และติดต่อประสานงานกับชุมชน
หลังจากก่อตั้งโรงเรียนขึ้น พบว่าเด็กเกือบทั้งหมดที่มาเรียนมีปัญหาสุขภาพ มีอาหารไม่เพียงพอและมีโภชนาการไม่เหมาะสม ส่งผลให้ร่างกายแคระแกรน เพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เกิดโรคคอพอก โรคพยาธิ จากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ รวมถึงการขาดแคลนรองเท้า ไม่มีรองเท้าสวม ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหานี้ก็คือความยากจนของครอบครัว และพื้นที่ตั้งของหมู่บ้านและโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ทำให้ขาดแคลนอาหารและแหล่งน้ำในชุมชน และเข้าถึงแหล่งอาหารจากภายนอกชุมชนได้ยาก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร เดินทางและติดต่อระหว่างหมู่บ้านยากลำบาก รวมถึงขาดความรู้ด้านสุขอนามัยที่ถูกต้อง
โรงเรียนจึงได้แก้ปัญหาโดยการเข้าร่วมโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี พ.ศ. 2523 ทำให้ได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ความรู้ในการทำการเกษตรเพื่อพึ่งพาตนเอง การวางแผนการโภชนาการที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย ทดลองปฏิบัติจริงกับสถานที่จริงเพื่อให้พบวิธีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ให้มีผลผลิตเพียงพอตลอดปี เรียนรู้การปรุงอาหารที่ถูกสุขอนามัย และหาแนวทางเพิ่มผลผลิตร่วมกับหน่วยงานรัฐ ตลอดจนนำความรู้ที่ได้ไปประกอบเป็นอาชีพของครอบครัวได้
การแก้ปัญหาของโรงเรียน ไม่ใช่เพียงแค่การนำอาหารเข้ามาให้เพียงพอกับความต้องการของนักเรียนเท่านั้น ที่จะทำให้ปัญหาการขาดแคลนอาหารหายไป แต่ต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้สามารถผลิตอาหารได้เอง ผลิตอาหารที่ปลอดภัย ปรุงอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ พัฒนาสุขภาวะในชุมชนให้สะอาดถูกสุขอนามัย นักเรียนและผู้ปกครองสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรัชใช้ภายในครอบครัวได้ ซึ่งจะส่งผลให้ยุติความหิวโหยได้อย่างยั่งยืน
โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ทำให้นักเรียนได้รับอาหารเพียงพอ มีสารอาหารครบถ้วน และมีสุขภาพดีขึ้น การเจ็บป่วยด้วยโรคจากการขาดสารอาหารลดลง การเห็นคุณค่าของอาหารและมีความรู้ด้านโภชนาการ การถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรที่ได้เรียนรู้สู่ชุมชนสร้างสร้างการมีส่วนร่วมในโครงการ เกิดความมั่นคงทางอาหารในโรงเรียนและชุมชน และสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบให้แก่เยาวชน เช่น การดูแลแปลงเกษตรหรือปศุสัตว์ จึงสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ ๒ ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน โดยยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคน โดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารกได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการ แก้ไขปัญหาความต้องการสารอาหารในเด็ก เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและสร้างหลักประกันระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน