
ความรุนแรงต่อสตรีไม่ใช่เพียงเหตุการณ์เฉพาะบุคคล แต่คือวิกฤตที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางเพศอันฝังรากลึกในสังคม ทุกวันนี้ ผู้หญิงกว่า 1 ใน 3 ทั่วโลกยังต้องเผชิญความรุนแรงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตลอดชีวิต สถานการณ์นี้ไม่เพียงทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ยังกัดกร่อนรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนของทุกประเทศ การแก้ไขปัญหาจึงต้องเคลื่อนไหวเป็นระบบ ตั้งแต่การปฏิรูปนโยบาย การปรับเปลี่ยนค่านิยมทางสังคม ไปจนถึงการเสริมสร้างอำนาจให้ผู้หญิงลุกขึ้นยืนได้ด้วยตนเอง บทความนี้จะนำเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรีที่ครอบคลุมทั้ง 3 มิติหลัก ได้แก่ การยกระดับมาตรการทางกฎหมาย การสร้างความตระหนักผ่านการศึกษาและสื่อสารสมัยใหม่ และการเสริมพลังศักยภาพสตรี พร้อมเจาะลึกกรอบงาน RESPECT Framework 7 กลยุทธ์ ที่ช่วยลดความรุนแรงในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการผสมผสานระหว่างการป้องกันเชิงรุก การสนับสนุนผู้ประสบภัย และการปรับโครงสร้างทางสังคมไปสู่ความเท่าเทียม
- หยุดวงจรความรุนแรง: แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรี
ความรุนแรงต่อสตรีเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคม การแก้ไขจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและดำเนินการอย่างเป็นระบบ การกำหนดแนวทางแก้ไขและป้องกันที่ มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญควรครอบคลุม ทั้งในระดับนโยบาย การสร้างความตระหนักในสังคม ตลอดจนการเสริมพลังศักยภาพให้แก่สตรีเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืนและครอบคลุมในทุกมิติ
- การแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรีในระดับนโยบาย
- การยกระดับมาตรการคุ้มครองสตรีในระดับนโยบายเป็นรากฐานสำคัญของการแก้ไขปัญหาความรุนแรง โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และระบบสนับสนุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การพัฒนากรอบกฎหมายให้ครอบคลุมความรุนแรงทุกรูปแบบเป็นสิ่งจำเป็น ตั้งแต่ความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศ ไปจนถึงการคุกคามในโลกออนไลน์ การเพิ่มบทลงโทษที่เด็ดขาดและการอุดช่องโหว่ทางกฎหมายจะช่วยป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อสตรี นอกจากนี้ ยังต้องมีการบัญญัติกฎหมายเฉพาะเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดในพื้นที่เสี่ยง เช่น สถานที่ทำงานและสถาบันการศึกษา
- กระบวนการยุติธรรมต้องได้รับการปรับปรุงให้เอื้อต่อผู้เสียหาย การจัดตั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แบบเบ็ดเสร็จช่วยให้ผู้เสียหายได้รับความช่วยเหลือครบวงจรในจุดเดียว บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต้องได้รับการฝึกอบรมให้เข้าใจความละเอียดอ่อนของคดีความรุนแรงทางเพศ การจัดตั้งศาลเฉพาะกิจและการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายฟรีจะช่วยให้ผู้เสียหายเข้าถึงความยุติธรรมได้สะดวกขึ้น
- การสนับสนุนศูนย์ช่วยเหลือและสายด่วน ศูนย์ช่วยเหลือครบวงจรมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ประสบปัญหา ทั้งการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ การจัดหาที่พักพิงชั่วคราว และการให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ศูนย์เหล่านี้ต้องได้รับการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและบุคลากรอย่างเพียงพอและต้องขยายการให้บริการไปยังพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงความช่วยเหลือได้
- สายด่วนฉุกเฉินต้องพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมทุกพื้นที่ และมีช่องทางการติดต่อที่หลากหลาย เจ้าหน้าที่ต้องได้รับการฝึกอบรมให้สามารถให้คำปรึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้หญิงพิการหรือผู้สูงอายุ ที่อาจต้องการความช่วยเหลือในรูปแบบเฉพาะ
- การสร้างความตระหนักในสังคม
- การสร้างความตระหนักในสังคมเพื่อยุติความรุนแรงเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม โดยมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมผ่านสองแนวทางหลัก
- แนวทางแรกคือการรณรงค์ผ่านสื่อและโซเชียลมีเดีย ซึ่งเน้นการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงค่านิยมชายเป็นใหญ่ในสังคม ผ่านการสร้างแคมเปญที่นำเสนอผลกระทบของความรุนแรงและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้มีอิทธิพลทางสังคมและศิลปินที่มีชื่อเสียง รวมถึงการจัดกิจกรรมในวันสำคัญ เช่น วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล นอกจากนี้ยังมีการผลิตสื่อสร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งรายการโทรทัศน์ ซีรีส์ และภาพยนตร์ที่สะท้อนปัญหาพร้อมเสนอแนวทางแก้ไข ตลอดจนการใช้โซเชียลมีเดียเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิสตรีและช่องทางการช่วยเหลือ
- แนวทางที่สองคือการส่งเสริมการศึกษาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยเริ่มจากการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาให้มีการสอนเรื่องสิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศตั้งแต่ระดับประถมศึกษา พร้อมทั้งจัดเวิร์กช็อปให้ครูและผู้ปกครองเพื่อสร้างความเข้าใจในบทบาทการป้องกันความรุนแรง และพัฒนาสื่อการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละวัย ในส่วนของชุมชน มีการจัดอบรมเรื่องการสื่อสารในครอบครัวและการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี สร้างเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังและรายงานเหตุความรุนแรง
- การเสริมพลังให้สตรี
- การเสริมพลังให้สตรีถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและปราศจากความรุนแรง โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนให้สตรีมีอำนาจทางเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมการประกอบอาชีพด้วยการจัดฝึกอบรมทักษะที่จำเป็น ทั้งการบริหารธุรกิจขนาดเล็กและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนสตรีเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และพัฒนาศูนย์ฝึกอาชีพในชุมชน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย
- การสร้างเครือข่ายสนับสนุนระหว่างสตรี โดยส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มช่วยเหลือกันเองในชุมชน พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการแลกเปลี่ยนและให้กำลังใจ รวมถึงจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับสตรีในชุมชน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมบทบาทผู้นำสตรี ด้วยการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจระดับต่าง ๆ

- RESPECT Framework 7 กลยุทธ์เพื่อลดความรุนแรงในสังคม
ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ยังคงน่ากังวล องค์การอนามัยโลก (WHO) และ UN Women ได้เสนอกรอบงาน RESPECT ซึ่งประกอบด้วย 7 กลยุทธ์หลัก เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงจากคู่ครอง
กลยุทธ์แรก มุ่งเน้นการเสริมสร้างทักษะความสัมพันธ์ (Relationship skills strengthening)ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารและแก้ไขความขัดแย้งระหว่างคู่สมรส โดยส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์บนพื้นฐานของความเท่าเทียมและความยินยอมร่วมกัน
กลยุทธ์ที่สอง เน้นการเสริมพลังผู้หญิง (Empowerment of women) ด้วยการสนับสนุนโครงการเสริมพลังทางเศรษฐกิจ อาทิ การฝึกอาชีพและการให้ทุนการศึกษา ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในบทบาทผู้นำและการตัดสินใจในระดับต่าง ๆ
กลยุทธ์ที่สาม มุ่งเน้นการจัดระบบบริการสนับสนุน (Services ensured) โดยจัดให้มีระบบบริการครบวงจรสำหรับผู้รอดชีวิต ทั้งด้านสุขภาพจิต กฎหมาย และที่พักฉุกเฉิน พร้อมทั้งฝึกอบรมบุคลากรสาธารณสุขให้สามารถให้บริการด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ
กลยุทธ์ที่สี่ มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจน (Poverty reduced) ผ่านโครงการโอนเงินสดแบบมีเงื่อนไขเพื่อลดการพึ่งพาทางการเงินจากผู้กระทำความรุนแรง และการสร้างโอกาสการจ้างงานที่เสมอภาค
กลยุทธ์ที่ห้า เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย (Enabling environments created) ด้วยการปรับปรุงความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ โรงเรียน และสถานที่ทำงาน รวมถึงการส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิสตรีอย่างจริงจัง
กลยุทธ์ที่หก มุ่งป้องกันการทารุณกรรมเด็กและวัยรุ่น (Child and adolescent abuse prevented) โดยจัดให้มีหลักสูตรการศึกษาเรื่องเพศวิถีที่ครอบคลุมและท้าทายการเหมารวมทางเพศ พร้อมทั้งสร้างกลไกป้องกันการล่วงละเมิดในสถานศึกษา
กลยุทธ์สุดท้าย มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและบรรทัดฐานทางสังคม (Transformed attitudes, beliefs, and norms) ผ่านการใช้แคมเปญสื่อเพื่อท้าทายความเชื่อที่ยอมรับความรุนแรงและการระดมพลังชุมชนเพื่อปรับเปลี่ยนบรรทัดฐานที่ไม่เป็นธรรมในสังคม
ความก้าวหน้าที่น่าจับตามองจากผลการดำเนินงานของกรอบ RESPECT สะท้อนให้เห็นจากหลายตัวชี้วัด โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่มีการดำเนินโครงการโอนเงินสดซึ่งสามารถลดความรุนแรงจากคู่ครองได้อย่างมีประสิทธิภาพถึงร้อยละ 55 นอกจากนี้ การจัดการฝึกอบรมด้านความเท่าเทียมทางเพศในสถานศึกษายังส่งผลให้พฤติกรรมก้าวร้าวของเยาวชนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จคือการผนึกกำลังระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม และภาคเอกชน รวมถึงการสนับสนุนด้านงบประมาณแก่องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิสตรี

แม้ว่าความรุนแรงต่อสตรีอาจดูเป็นปัญหาซับซ้อนไร้ทางออก แต่ผลลัพธ์จากการดำเนินงานตามกรอบ RESPECT ได้แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ หากทุกคนเริ่มต้นจากพื้นที่ของตนไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงแม้เพียงเล็กน้อย และร่วมส่งเสียงสนับสนุนนโยบายที่คุ้มครองสิทธิสตรี วงจรความรุนแรงที่หมุนวนมานานศตวรรษย่อมหยุดลงได้และนั่นคือพื้นฐานของการสร้างสังคมที่ทุกคนเคารพในศักดิ์ศรีของกันและกันอย่างแท้จริง
- ความท้าทายและความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและเด็กของประเทศไทย
การดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรีในประเทศไทยได้รับการขับเคลื่อนอย่างจริงจังผ่านความร่วมมือระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดจากความรุนแรง มีความเป็นธรรม และเคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์ผ่านการดำเนินงานทั้งนโยบายเชิงโครงสร้าง กิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ และการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของสตรีในสังคมไทย
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของไทยยังคงน่ากังวล โดยข้อมูลจากกระทรวง พม. แสดงให้เห็นแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากสถิติผู้ถูกกระทำความรุนแรง 2,312 รายในปี 2566 โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่พบเหตุสูงสุด และในปี 2567 อัตราเฉลี่ยได้เพิ่มขึ้นเป็น 42 รายต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 8 รายเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นการทำร้ายร่างกายและการล่วงละเมิดทางเพศ เนื่องจากปัญหายาเสพติด ความเครียดทางเศรษฐกิจ และปัญหาสุขภาพจิต อย่างไรก็ตาม มีแม้สถิติความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น แต่การเข้าถึงบริการช่วยเหลือของประชาชนก็มีแนวโน้มขยายตัว สะท้อนจากจำนวนผู้ใช้บริการสายด่วน 1300 ที่เพิ่มขึ้นจาก 4,127 ราย ในปี 2566 เป็น 4,833 รายในปี 2567 รวมถึงการให้บริการของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ที่ช่วยเหลือประชาชนได้มากถึง 13,817 กรณี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นอกจากนี้ ยังมีความพยายามในการพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนผู้เสียหายผ่านการจัดทำ (ร่าง) คู่มือโดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การเสริมสร้างการเข้าถึงบริการด้านครอบครัวในประเทศไทยได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องผ่านนโยบายและมาตรการที่หลากหลาย โดยศูนย์ช่วยเหลือสังคม (ศรส.) ได้ขยายเครือข่ายการทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพและหน่วยเคลื่อนที่เร็วครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด เพื่อให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล พร้อมทั้งพัฒนาระบบ Family Line “เพื่อนครอบครัว” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับให้คำปรึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้แก่สมาชิกครอบครัว นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงกฎหมายที่สำคัญ เช่น การแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 เพื่อขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมถึงกลุ่มหลากหลายทางเพศ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการพัฒนาระบบการช่วยเหลือที่ทั่วถึงและเท่าเทียมมากขึ้น
แม้สถิติความรุนแรงยังสูงขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นของการแจ้งเหตุสะท้อนว่า ประชาชนไว้วางใจระบบช่วยเหลือมากขึ้น จากการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และการขยายช่องทางบริการ เช่น สายด่วน 1300 และแอปพลิเคชัน ESS Help Me อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและเด็กไม่สามารถสำเร็จได้โดยการทำงานของรัฐบาลเพียงลำพัง ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในทุกมิติ ภาครัฐยังต้องเร่งเสริมศักยภาพบุคลากร ขยายเครือข่ายชุมชน และปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน
กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เอกสารอ้างอิง
Hfocus. (2563). กรมการแพทย์เผย 4 แนวทางป้องกันความรุนแรงต่อเด็กและสตรี. สืบค้นจาก https://www.hfocus.org/content/2020/11/20506
Un Women. (2024). FAQs: Types of violence against women and girls. Retrieved from https://www.unwomen.org/en/articles/faqs/faqs-types-of-violence-against-women-and-girls
United Nations. (2025). World News in Brief: WHO chief asks US to reconsider withdrawal, gender parity remains distant goal, call for rethink on Nordic alcohol law change. Retrieved from https://news.un.org/en/story/2025/02/1159711
World Health Organization (WHO). (2020). Coronavirus disease (COVID-19): Violence against women. Retrieved from https://www.who.int/news-room/questions-and-answers/item/coronavirus-disease-covid-19-violence-against-women
World Health Organization (WHO). (2024). WHO calls for greater attention to violence against women with disabilities and older women. Retrieved from https://www.who.int/news/item/27-03-2024-who-calls-for-greater-attention-to-violence-against-women-with-disabilities-and-older-women
World Health Organization (WHO). (n.d.). Violence against women. Retrieved from https://www.who.int/health-topics/violence-against-women#tab=tab_1
ชลาศัย กันมินทร์. (2562.) ความรุนแรงในครอบครัว: ปัญหาและแนวทางป้องกัน. สืบค้นจาก https://rsucon.rsu.ac.th/files/proceedings/nation2019/NA19-136.pdf
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2557). 5 ข้อปฏิบัติ ป้องกันความรุนแรงในสตรี. สืบค้นจาก https://www.thaihealth.or.th/?p=231270
กลับหน้าข่าวสารและบทความ