You are currently viewing “ธนาคารปูม้า”  คืนปูม้าทรัพยากรอันมีค่าสู่ทะเลไทย ส่งต่อความยั่งยืนสู่อนาคต

          ปูม้า เป็นทรัพยากรสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่ผู้คนนิยมบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ความต้องการบริโภคปูม้ามีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงนำไปสู่การทำประมงที่เพิ่มขึ้น ทั้งเรือประมงพื้นบ้านชายฝั่ง และเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ มีการพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการจับปูม้า  ทำให้มีการนำทรัพยากรปูม้าขนาดเล็กขึ้นมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ประกอบกับการที่ชาวประมงทั่วไปมีการจับปูม้าที่มีไข่แก่นอกกระดองในปริมาณมากด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ประชากรปูม้าไม่สามารถเจริญเติบโตทดแทนได้ทัน จนกลายเป็นการทำประมงที่เกินกำลังผลิตของธรรมชาติ

ข้อมูลจาก NRCT Official Youtube ธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย”ตอนที่ 1 ปูม้ากับท้องทะเลไทย

         จากสถานการณ์ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรปูม้า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรี ให้เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ สถาบันการศึกษา ในการดำเนินโครงการขยายผลธนาคารปูม้า เพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทย

ข้อมูลจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

        ธนาคารปูม้า หมายถึง การนำแม่ปูม้าที่มีไข่แก่ติดหน้าท้องมาฝากไว้ในกระชังที่อยู่ในทะเลหรือถังน้ำในโรงเรือน เมื่อแม่ปูม้าเขี่ยไข่ออกจากหน้าท้องแล้วจึงนำแม่ปูไปขาย แม่ปูม้าหนึ่งตัว จะผลิตไข่จำนวน 229,538 ฟองถึง 2,859,061 ฟอง เฉลี่ยแม่ปูหนึ่งตัวจะผลิตไข่ได้ 998,292 ฟอง ไข่ที่ถูกเขี่ยออกจากแม่ปูก็จะฟักเป็นตัวอ่อน จากนั้นจะถูกปล่อยลงสู่ธรรมชาติ จนเติบโตเป็นปูม้าขนาดใหญ่ต่อไป

ธนาคารปูม้ารูปแบบกระชัง
ธนาคารปูม้ารูปแบบกระชัง
ภาพประกอบจากคู่มือธนาคารปูม้า (วช.)
ธนาคารปูม้ารูปแบบโรงเรือน
ธนาคารปูม้ารูปแบบโรงเรือน
ภาพประกอบจากคู่มือธนาคารปูม้า (วช.)

          โครงการธนาคารปูม้า  เป็นการใช้ประโยชน์และบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน เพื่อให้ทรัพยากรปูม้าฟื้นฟูกลับสู่ความสมบูรณ์ รวมถึงปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกมิติด้านการพัฒนา เพื่อสร้างความยั่งยืนของท้องทะเลไทยให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 14 การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน จากการเพิ่มปริมาณปูม้าในท้องทะเลไทย เป็นประโยชน์ต่อชาวประมง สามารถสร้างอาชีพประมงปูม้าอย่างยั่งยืน เพิ่มทรัพยากรทางทะเลเพื่อการบริโภคให้ชาวประมงพื้นบ้าน เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ เนื่องจากโครงการธนาคารปูม้าช่วยลดปัญหาการว่างงาน เพิ่มรายได้ แก้ปัญหาความยากจน เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมและยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพและการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน ทั้งชาวประมงและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการส่งออก มีจำนวนปูม้าที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เกิดรายได้จากการส่งออก และลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าปูม้า และเป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ช่วยเพิ่มโอกาสความเท่าเทียมในการดำรงชีวิต ยกระดับคุณภาพชีวิต และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

เว็บไซต์:https://nrct.go.th/crabbank

Youtube:https://www.youtube.com/playlist?list=PLAeq7fXQLLVHlvnRKvSono8aDuW5d9Y_1

ที่มาของเรื่องและรูปภาพ: www.facebook.com/ธนาคารปูม้า-คืนปูม้าสู่ทะเลไทย-ตามมติ-ครม-177914456432672 และ 

คู่มือธนาคารปูม้า:https://drive.google.com/file/d/1KV7Ld06BskX_mnk_KLWAdhYb-E0WViKe/view