มีผู้เข้าร่วมงาน ประมาณ 1,500 ราย ประกอบด้วย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคณะกรรมการมูลนิธิพัฒนาไท คณะอนุกรรมการส่งเสริมความเข้าใจและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คณะอนุกรรมการอำนวยการธนาคารสมอง ผู้บริหาร สศช. ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ชุมชนท้องถิ่น/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วุฒิอาสาธนาคารสมอง สถาบันการศึกษาทั้ง

โรงเรียน มหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ นักเรียน นิสิต/นักศึกษา ประชาชนทั่วไปที่สนใจ เจ้าหน้าที่ สศช. และ มพท. โดยประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ก้าวพอดี : การขับเคลื่อนการนำใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยรูปแบบการจัดงาน แบ่งเป็นการจัดนิทรรศการและเวทีเสวนา ดังนี้

1 การจัดนิทรรศการและกิจกรรมส่งเสริมความรู้ SEP for SDGs

1.1 นิทรรศการ SEP for SDGs มีหน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมจัดนิทรรศการ SEP for SDGsเพื่อนำเสนอผลงานการขับเคลื่อนการนำใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดระยะเวลา 3 ปี โดย สศช. (กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคมและกองยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ) จัดแสดงนิทรรศการเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ชาติที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักการดำเนินงานที่น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนิทรรศการของหน่วยงานภาคีเครือข่าย จำนวน 33 หน่วยงาน ซึ่งสะท้อนผลลัพธ์ของการพัฒนาตามมิติของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 5 มิติ ดังนี้

1) มิติการพัฒนาคน (People) : นำเสนอความสำเร็จของการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้แก่ เกษตรทฤษฎีใหม่ กังหันน้ำชัย

พัฒนา การจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม รวมทั้งการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ กิจกรรมตรวจสอบสุขภาพการเงินของกรุงเทพมหานคร กิจกรรมส่งเสริมการออมโดยธนาคารออมสินงานวิจัยประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน กรณีศึกษาในท้องถิ่น ของ สกสว. ช่องทางเข้าถึงการเรียนรู้สำหรับทุกคนของ TK Park การจัดการความรู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดย OKMD

2) มิติการพัฒนาสิ่งแวดล้อม (Planet) : การพัฒนาเมืองและชุมชนท้องถิ่นสู่ความยั่งยืนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ โครงการเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนของมูลนิธิอุทกพัฒน์ โครงการเทศบาลท้องถิ่นจัดการตนเองสู่ความยั่งยืนของ สสส.

3) มิติการพัฒนาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Prosperity) : การพัฒนาสู่ความยั่งยืนโดยการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งภาคธุรกิจเอกชนและชุมชนท้องถิ่น ได้แก่ การดำเนินงานSCG Circular Way ของเครือ SCG การบริหารจัดการองค์กรและการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของ ปตท. การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาชุมชนโดยบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด การประสานความร่วมมือทั้งห่วงโซ่คุณค่าของกลุ่มมิตรผล และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเพิ่มรายได้และความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของกรมการพัฒนาชุมชน

4) มิติการสร้างสังคมสันติสุขและยุติธรรม (Peace) : นำเสนอแนวทางการส่งเสริมและให้โอกาสผู้กระทำผิดกลับคืนสู่สังคม ได้แก่ สนับสนุนการฝึกทักษะอาชีพของผู้ต้องขัง งานฝีมือประดิษฐ์ของที่ระลึกบริการนวดสปา และร้านกาแฟวังจันทร์ โดยผู้ต้องขังหญิงจากทัณฑสถานหญิงธนบุรีและเรือนจำพระนครศรีอยุธยา

5) มิติหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) : แสดงผลงานการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในต่างประเทศ ได้แก่ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และ UNDP ที่ประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินงาน

1.2 กิจกรรมส่งเสริมความรู้ SEP for SDGs

(1) การสำรวจความพอดีของตนเอง โดยจัดทำแบบสำรวจตนเองออนไลน์ให้ผู้เข้าร่วมงานสแกน QR Code เพื่อทดสอบทำการสำรวจตนเองผ่านองค์ประกอบ 9 ข้อ ที่สะท้อนถึงกระบวนการคิดและการใช้ชีวิตที่มีความสมดุล พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และสามารถอยู่ร่วมกับสังคมโลกได้อย่างมีความสุข

(2) เอกสารองค์ความรู้ SEP for SDGs ประกอบด้วย (1) สูจิบัตรงานก้าวพอดี (2) สรุปผลการจัดการความรู้เชิงลึกการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงรายเป้าหมาย 17 เป้าหมายจำนวน 36 กรณีตัวอย่าง (3) “๙ ย่าง สู่ความยั่งยืน” ของภาคเอกชน วิสาหกิจชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ “9 ย่าง สู่ความยั่งยืน” รายประเด็นการพัฒนา จำนวน 27 แนวทาง (4) หนังสือปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฉบับพกพา และ (5) ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580)

 

2 การเสวนา SEP for SDGs Talk-Sharing เพื่อเผยแพร่แนวคิดและแนวทางการขับเคลื่อนงาน

การนำใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 7 ประเด็น ดังนี้

2.1 จากปรัชญาฯ สู่ความยั่งยืน เป็นการเสวนาในประเด็นการขับเคลื่อนจากนโยบายสู่การปฏิบัติ การขยายผลและส่งเสริมสู่เวทีการพัฒนาระดับโลก สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

(1) การขับเคลื่อนจากนโยบายสู่การปฏิบัติ ประเทศไทยได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นวิถีการพัฒนาสู่ความยั่งยืนคือ From Globalization To Local เชื่อมโยงในระดับแนวคิด ยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานคิดนำไปสู่การบรรลุ SDGs ระดับยุทธศาสตร์ ที่มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และระดับปฏิบัติการผ่านแผนพัฒนาต่างๆ From Local To Globalization ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงครอบคลุม 17 เป้าหมาย SDGs โดยยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และ Glocalization เชื่อมประสานระหว่างสากลกับความเป็นท้องถิ่นไทยนำเสนอสู่เวทีประชาคมโลก

(2) ขับเคลื่อนและขยายผลทุกภาคส่วน ตัวอย่างเช่นภาคธุรกิจเอกชนได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนแบ่งเป็น ระดับที่ 1 แบบพื้นฐาน ในลักษณะห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) ที่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทุกองค์กรเข้ามาร่วมมือกัน ระดับที่ 2 แบบก้าวหน้า ให้ความร่วมมือที่เป็นรูปแบบของความร่วมมือภายในอุตสาหกรรม และระดับที่ 3 แบบก้าวหน้า คือ ความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย

(3) ส่งเสริมสู่เวทีการพัฒนาระดับโลก โดยร่วมมือทางวิชาการและการพัฒนาในลักษณะหุ้นส่วนการพัฒนาร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก โดยนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมาเป็นต้นแบบให้ประยุกต์ใช้ตามภูมิสังคม ภูมิประเทศที่แตกต่างกันทั่วโลก เพื่อสู่เป้าหมายการพึ่งพาตนเองได้ ที่นำไปสู่ความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง

 

2.2.2 Call for Collaboration & Action : “SDG 11 Nexus” สศช. ร่วมกับสถาบันคลังสมอง

ของชาติและภาคีเครือข่ายการพัฒนาเมืองยั่งยืน จัดเวทีเสวนาในรูปแบบ TED Talk สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

(1) การพัฒนาชุมชนเมือง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ด้วยการเชื่อมโยงความรู้ในมหาวิทยาลัยออกมาใช้ในชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชน เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้เป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนตนเองได้อย่างยั่งยืน

(2) การพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนจากทุนทรัพยากรธรรมชาติ ทุนของชุมชน ผ่านโครงการและงานวิจัยจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ หาแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น และสร้างรายได้ชุมชน

(3) การบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ สนับสนุนการลงทุนในตราสาร ประเภท Green Bond Social Bond และ Sustainability Bond เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมสนับสนุนให้มีการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ทั้งขยะอินทรีย์ในครัวเรือนและขยะพลาสติก

 

2.2.3 นวัตกรรมฐานราก สกัดความยากจน เป็นการเสวนาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความยากจน

และลดความเหลื่อมล้ำบนฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

(1) การบริหารจัดการขยะของชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ซึ่งคนในชุมชนร่วมกันคิดแก้ไขปัญหาโดยใช้ขยะเป็นตัวขับเคลื่อนชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ตั้งแต่การเก็บ/คัดแยกขยะเพื่อสร้างรายได้ การใช้ประโยชน์จากขยะทุกประเภท การเพิ่มมูลค่าขยะเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ

(2) กองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดอุดรธานี เป็นการรวมกลุ่ม ระดมทุนจัดสวัสดิการต่าง ๆให้กับสมาชิก ช่วยเหลือผู้ยากไร้ในตำบล หนุนเสริมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ฟื้นฟูระบบคุณค่าทุนทางสังคมที่มีอยู่เดิม รวมถึงทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในพื้นที่ สร้างหลักประกันความมั่นคงของคนในชุมชน นำไปสู่การพึ่งตนเอง

(3) สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด จังหวัดนครราชสีมา มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกให้มีความอยู่ดี กินดี พึ่งพาตนเองได้ ให้สมาชิกมีความรู้สึกเป็นเจ้าของสหกรณ์ ทำธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรอย่างครบวงจร และเชื่อมโยงการทำงานกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ จนสามารถจัดการเรื่องการขาดแคลนเงินทุน ที่ดินทำกิน ความรู้ การตลาด และปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นของเกษตรกรในพื้นที่ได้

(4) ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านชากไทย จังหวัดจันทบุรี จัดระบบหนี้สินในรูปแบบบูรณาการกองทุนอย่างเป็นเอกภาพ เพื่อลดปัญหาการเป็นหนี้ของคนในชุมชนที่เดือดร้อน โดยมีคณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชนจัดเตรียมข้อมูลของกลุ่ม/องค์กรในชุมชน จัดทำทะเบียนลูกหนี้ วิเคราะห์ลูกหนี้ จัดประเภทของลูกหนี้ และดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้

(5) บ้านทุ่งโต๊ะหย๊ะ จังหวัดพัทลุง ชุมชนจัดการตนเองเป็นหมู่บ้าน 9 ดี โดยใช้กระบวนการจัดทำแผนชุมชนไปใช้ประโยชน์ อาทิ สนับสนุนการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ส่งเสริมการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนรณรงค์การคัดแยกขยะ จัดระเบียบของชุมชนให้น่าอยู่ ใช้พลังงานทดแทนที่สอดคล้องกับสภาพชุมชน และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนเพื่อสร้างการเรียนรู้

 

2.2.4 ปฏิบัติการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน เป็นการร่วมจัดเวทีเสวนาระหว่าง สศช. กับสำนักงาน กปร. เพื่อนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของการบูรณาการการทำงานในพื้นที่ผ่านบทเรียนของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ จังหวัดจันทบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จังหวัดสกลนคร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จังหวัดนราธิวาส ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จังหวัดเพชรบุรี สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

(1) สร้างความรักความศรัทธา และความเชื่อมั่นในหลักการทรงงานและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตให้มีความมั่นคงและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการ ถูกต้องตามหลักวิชาการ สามารถคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืน

(2) ส่งเสริมการรวมกลุ่ม โดยนำภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่นมาพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า รวมถึงการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกรจนสามารถกำหนดราคาผลผลิตเองได้ ทำให้เกิดการกระจายรายได้ของชุมชน ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

(3) การสร้างความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมวิถีการพัฒนาในพื้นที่เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา สร้างความตระหนักและจิตสำนึกความเป็นเจ้าของร่วมกันของชุมชนในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดความหลากหลายทางธรรมชาติคนสามารถอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน

 

2.2.5 The Right Pace Forward ธุรกิจกับการสร้างความยั่งยืน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินธุรกิจ โดยมีสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

(1) การน้อมนำปรัชญาฯ เป็นหลักคิดการดำเนินธุรกิจ ด้วยการพัฒนาอย่างสมดุล เน้นการพึ่งตนเองโดยการสร้างภูมิคุ้มกัน ปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ สร้างนวัตกรรมเพื่อให้ได้สินค้าที่ทันสมัยเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการบริหารความเสี่ยง สร้างความสัมพันธ์กับ Stakeholderเหมือนคนในครอบครัว และเมื่อธุรกิจเข้มแข็งควรสร้างประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม

(2) การพัฒนากระบวนการคิดที่เป็นระบบ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงทำให้เกิดการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก ส่งผลให้เกิดการพัฒนา ปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น

(3) ด้านการบริหารจัดการองค์กรควรบริหารบุคลากรด้วยสัมพันธ์แบบพี่น้อง จัดกิจกรรมให้พนักงานมีความสุข รู้สึกมีคุณค่า เกิดความภาคภูมิใจส่งเสริมให้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม มีการประเมินการทำงานด้วยคะแนนความดีและความเก่งที่สมดุลกัน ควรจัดทำเป็นกฎ ระเบียบขององค์กรในลักษณะ “ข้อตกลงร่วม” ที่มาจากความคิดของทุกคน ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและให้ความร่วมมือปฏิบัติตาม

(4) ภาคประชาชนศูนย์กลางของการพัฒนา และเป็นภาคส่วนสำคัญในการช่วยการพัฒนาประเทศ จึงควรมีกลไกการจัดการเพื่อเปิดช่องทางการเข้ามามีส่วนร่วม

(5) ความยั่งยืน ควรให้ชุมชน_เป็นผู้กำหนดเป้าหมายการพัฒนา แนวทางแก้ไขปัญหาและนำไปสู่ความยั่งยืน ส่งเสริมให้ทำธุรกิจมุ่งเน้นกำไรที่พอดีมากกว่าได้กำไรสูงสุด ซึ่งจะนำไปสู่การทำธุรกิจที่มีเหตุผลรองรับ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมสร้างกระบวนการให้พื้นที่/ชุมชนได้เข้าใจปัญหาของตนเอง และเชื่อมโยงการหนุนเสริมจากภาคส่วนต่างๆที่หลากหลาย

 

2.2.6 เรียนรู้ เรียนคิด… ก้าวที่ยั่งยืนของการศึกษาไทย เป็นการเสวนาแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในแต่ละช่วงวัยและแต่ละกลุ่มสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

(1) เด็กก่อนวัยเรียน ส่งเสริมให้เด็กได้เล่นในสนามเด็กเล่น พร้อมกับการเรียนรู้ธรรมชาติผ่านกิจกรรมตามช่วงวัย เพื่อส่งผลให้เด็กมีความสุข สนุก มีทัศนคติที่ดีกับการเรียนรู้ และต่อยอดเป็นความรู้ที่ลึกซึ้ง สร้างพัฒนาการทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาเพื่อวางฐานรากให้เด็กได้เติบโตขึ้นอย่างสมวัย

(2) เด็กผู้ด้อยโอกาส โดยการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมที่ใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนและครูเข้าถึงสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย เปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงการเรียนการสอนได้กว้างขวาง สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของครูอย่างครบถ้วน เน้นกระบวนการสร้างความรู้จากการลงมือปฏิบัติ มีช่องทางเข้าถึงทางWebsite และ Application บนโทรศัพท์มือถือ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ลดช่องว่างและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับประชาชนทุกคน

(3) เด็กวัยเรียน มีการส่งเสริมและเผยแพร่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาไปจนถึงอุดมศึกษา รวมทั้งอาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบ และประชาชนทั่วไป บ่มเพาะปลูกฝังให้นักเรียนและนักศึกษา เรียนรู้และนำใช้ปรัชญาฯ ในชีวิตประจำวันแนวคิดสำคัญ คือ “การศึกษา ไม่ใช่การเรียนได้คะแนนดีอย่างเดียว แต่ต้องมีทักษะชีวิตด้วย” โดยมุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้

(4) วัยแรงงานและผู้ด้อยโอกาส สนับสนุนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสพัฒนาทักษะวิชาชีพ โดยที่ไม่เสียค่าเล่าเรียนและค่าอยู่อาศัย เพื่อนำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และส่งเสริมให้ต่อยอดไปสู่ระดับปริญญาตรี

 

2.2.7 ปลุกพลังความ D-พอ เป็นการเสวนาถ่ายทอดแนวคิดและประสบการณ์การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

(1) สร้างทัศนะที่ว่า “ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้” เปลี่ยนสังคมให้ร่วมกันสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม แบ่งปันสังคม ใช้ความรู้และคุณธรรมในการทำสิ่งดีๆ ให้สังคม

(2) หาทางสายกลาง เรียนรู้และมีการปรับเปลี่ยนอย่างเหมาะสม โดยดึงศักยภาพของคนที่มีแนวคิดเหมือนกัน โดยใช้หลักปรัชญาฯ ในการสร้างความสามัคคี สร้างความสมดุลทางวัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(3) คำนึงถึงธรรมชาติ รักษาสมดุลของทุกชีวิต น้อมนำปรัชญาฯในการสร้างความสุข ด้วยการเชื่อมโยงตนเองกับสิ่งอื่นๆ ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ร่วมสร้าง ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมให้ดี อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

(4) จุดพลังการมีส่วนร่วม ใช้ความจริงใจในการทำงาน แนวคิดหลัก คือ เงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีความสุข แต่เป็นความพอใจและมีเวลาใช้ชีวิตกับสิ่งที่รัก ได้แบ่งปันให้กับคนอื่น ลดการเอาเปรียบ เพื่อลดปัญหาสังคมและทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น สร้างคุณค่าและความหมายด้วยสมองสองมือ หัวใจ เพื่อให้สังคมจะน่าอยู่ยิ่งขึ้น

(5) หลอมรวมเป็นเครือข่ายเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มุ่งสร้างรัฐสวัสดิการทั่วหน้า โดยพัฒนาต่อยอดจากการดำเนินงานพัฒนาจากจุดเล็กๆ ขยายผลให้เกิดพลังในวงกว้าง