เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้การต้อนรับ Mr. Winfried F. Wicklein ผู้อำนวยการสำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ในระหว่างภารกิจเยือนประเทศไทยเพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่าง ADB และหน่วยงานไทย
ในโอกาสนี้ ผู้อำนวยการฯ ธนาคารพัฒนาเอเชีย ได้หารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นด้านการพัฒนาอย่างรอบด้านของประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นที่ ADB พร้อมให้การสนับสนุนทั้งในด้านวิชาการและการเงิน อาทิ สาธารณสุข การจัดการขยะ และมลภาวะทางน้ำ พร้อมทั้งนำเสนอถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการเงินสีเขียวเพื่อช่วยปรับปรุงความสามารถทางการเงินและการจัดหาเงินทุนของโครงการสีเขียวต่าง ๆ ทั้งนี้ ADB ได้จัดทำการศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไทยอาจนำมาปรับใช้ประโยชน์ได้ อาทิ การศึกษา Renewable Energy Manufacturing: Opportunities for Southeast Asia ซึ่งมุ่งเน้นการวิเคราะห์แนวทางการลงทุนของภาคเอกชน การบูรณาการความร่วมมือระดับภูมิภาค และการออกนโยบายที่ส่งเสริมอุปสงค์ด้านการขนส่งและพลังงานคาร์บอนต่ำ และการศึกษา Unlocking Innovation for Development ซึ่งมุ่งหวังการเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศสมาชิกในการแก้ปัญหาการพัฒนาผ่านนวัตกรรม
ในการนี้ เลขาธิการ สศช. ได้เน้นย้ำถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยที่รัฐบาลให้ความสำคัญ อาทิ การเกษตร อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การบริการสุขภาพ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการพัฒนา soft power ของไทย รวมถึงการให้ความสำคัญกับประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะด้านคุณภาพอากาศ และการพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตให้มีมาตรฐานสากลและเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน นอกจากนี้ เลขาธิการฯ ยังได้หยิบยกประเด็นสังคมสูงวัยของไทย ซึ่งจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมในทุกภาคส่วนเพื่อให้ไทยเป็นสังคมสูงวัยได้อย่างมั่นคง
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมยินดีกับความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์หุ้นส่วนการพัฒนาประเทศ (Country Partnership Strategy: CPS) และความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่าง สศช. และ ADB ภายใต้โครงการ Thailand Green Incubator ซึ่งได้ริเริ่มสรรหาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนและการจัดการขยะเพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ดีและเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบก่อนขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป โดยทั้งสองฝ่ายยังคงยืนยันถึงความสำคัญของการดำเนินโครงการดังกล่าวในการมีส่วนช่วยยกระดับความรู้ ความเข้าใจ และความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐเพื่อดำเนินงานตามนโยบายเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) Economy
ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
ภาพ : เมฐติญา วงษ์ภักดี