โครงการ Local Think Tank: From canal management to local public policy เป็นการพัฒนาเมืองที่มุ่งเน้นการพัฒนาคน การร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยนำโมเดลเศรษฐกิจใหม่ “BCG Model” มาปรับใช้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืน
มีการดำเนินการในพื้นที่ต้นแบบใน 6 เขต คือ คลองสาน (ชุมชนวัดทองเพลง) ธนบุรี (ตลาดพลู) ทุ่งครุ (คลองบางมด) จอมทอง (คลองบางมด) ภาษีเจริญ (ชุมชนพูนบำเพ็ญ) และบางขุนเทียน (พื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์คุณกะลาหรือชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะ) โดยโครงการ Local Think Tank ได้รับการสนับสนุนเงินทุนตั้งต้น (seed fund) จากเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนนานาชาติ (International Sustainable Campus Network: ISCN) และดำเนินการผ่านการประสานความร่วมมือกับชุมชนและเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคพลเมือง ภาคเอกชน และภาควิชาการ ตลอดจนเครือข่ายมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
วิกฤตการณ์โควิด-19 นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ สร้างความท้าทายใหม่ที่ทุกภาคส่วนควรหันหน้าเข้าหากัน และร่วมออกแบบอย่างสร้างสรรค์ภายใต้บริบทการพัฒนาเมืองและกรอบเศรษฐกิจใหม่ (New economy) ที่มุ่งแปลง ‘วิกฤต’ ให้เป็น ‘โอกาส’ ด้วยเสน่ห์และศักยภาพทั้งด้านธรรมชาติ วัฒนธรรม และการค้าของพื้นที่ริมคลองฝั่งธนบุรี รวมถึงการใช้ประโยชน์จากคลองในมิติต่าง ๆ อาทิ การเชื่อมต่อการสัญจรสีเขียวซึ่งหากเชื่อมโยงกับฟันเฟืองในการขับเคลื่อนบนฐานเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) โครงการ Local Think Tank มุ่งหาทางออกหรือวิธีในการแก้ปัญหาที่ปฏิบัติได้จริง และมีความยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยนำ SDGs ไปเป็นกรอบการพัฒนาพื้นที่อย่างความยั่งยืน (SDG Localization) โดยมีพื้นที่ต้นแบบริมคลองฝั่งธนฯ หรือ “ห้องปฏิบัติการบนพื้นที่เมือง” (Urban Lab) ที่มีการหยิบยกปัญหาในแต่ละพื้นที่ขึ้นมาเพื่อลงมือแก้ไขปัญหา อาทิ สภาพคลองที่เสมือนเป็นท่อระบายน้ำ ฝุ่นพิษ PM2.5 การกัดเซาะชายฝั่ง รวมถึงแผนการพัฒนาเมืองและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและระบบนิเวศธุรกิจ ตลอดเส้นทางของห่วงโซ่อุปทานของสินค้า/บริการ ผ่านการประสานความร่วมมือในพื้นที่ระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคพลเมือง ซึ่งรวมถึงภาคเอกชนและภาคส่วนอื่น ๆ เป็น “คลังสมองของพื้นที่” (Local think tank) ที่ “ร่วมคิด” และ “ร่วมทำ” โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ที่จะเป็นพลังอนาคตที่ผลักดันการพัฒนาพื้นที่ย่านธนบุรีต่อไป
การนำ “ผังเมือง” มาร่วมวาง “แผนพัฒนาเมือง” ผ่านกระบวนการจัดทำแผงผังภูมินิเวศ (Ecological Spatial Plan: ESP) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางกลยุทธ์ที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยนำทางการพัฒนาพื้นที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยบริบทการอนุรักษ์ พัฒนา และฟื้นฟูภายใต้กรอบคุณธรรมของ “ธรรมชาติและวัฒนธรรม” นอกจากนี้ การนำ “ผังคน” (ความรู้ อาชีพ ประสบการณ์ การขับเคลื่อนของภาคพลเมือง ฯลฯ) มาร่วมในกระบวนการพัฒนาเมืองจะช่วยสร้างความเป็นเจ้าของร่วมในกระบวนการพัฒนานโยบาย ตั้งแต่ในขั้นตอนการออกแบบนโยบาย จนถึงการนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติ ร่วมสร้างเส้นทางใหม่มุ่งไปยังทิศทางของความยั่งยืนทั้งมิติการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมอย่างบูรณาการ นอกจากนี้ การนำเครื่องมือที่เหมาะสมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาร่วมใช้ในกระบวนการพัฒนาเมืองจะยิ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาและก่อให้เกิดวัฒนธรรมการรวมพลังปฏิบัติการของพลเมืองในแนว Consortium in action หนุนเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน มุ่งสร้างสรรค์พื้นที่ริมคลองฝั่งธนฯ ตามลักษณะภูมิสังคมโดยคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ในแนวที่เชื่อมต่อผลกระทบกับพื้นที่ริมคลองข้างเคียง (Transboundary) เพื่อร่วมพัฒนาสายคลองจากแม่น้ำเจ้าพระยาสู่อ่าวไทยไปพร้อมกันด้วยห่วงโซ่คุณค่าของการพัฒนาเมืองอย่างพึ่งพาตนเองได้และอย่างมีภูมิคุ้มกัน
โดยกิจกรรมการพัฒนาเมืองที่จะดำเนินการภายใต้โครงการ Local Think Tank มีความเชื่อมโยงกับ
1) บริบทการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับการฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตโควิด-19 ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาปากท้องของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
– การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการกลายเป็นเมือง (urbanization) ของพื้นที่ริมคลอง ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ecotourism) และการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (-gastronomy tourism)
– การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของสินค้า/บริการ สู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและระบบนิเวศธุรกิจ เช่น ธุรกิจเกษตรอาหาร/วัตถุดิบ ชุมชนธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม/ทางเรือ ระบบการขนส่งใหม่
2) การพัฒนาแผนธุรกิจเพื่อการพัฒนาเมืองด้วยการค้า/การลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Trade & Investment) เพื่อสร้างเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองด้วยระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนบนฐานเศรษฐกิจ BCG การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การอนุรักษ์วิถีและวัฒนธรรม และการปรับตัวเพื่อรองรับวิกฤตการณ์โควิด-19 อาทิ การบริหารจัดการ Local food bank และการส่งเสริมการรวมตัวของ SE
3) การพัฒนาเมืองด้วยนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วมที่แท้จริงด้วยความก้าวหน้าที่มีพลวัตรของเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ อาทิ เทคโนโลยีดิจิทัลที่จะช่วยให้พลเมืองเข้าถึงและมีส่วนกำหนดนโยบายการพัฒนาพื้นที่ของตนและร่วมขับเคลื่อนอย่างมีธรรมาภิบาล
4) การพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง
5) การต่อยอดพัฒนาเมืองด้านต่าง ๆ
– การพัฒนาพลเมืองในพื้นที่สู่การพลเมืองคุณภาพ หรือ Smart people เพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะเมืองจะไม่สามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนหากปราศจากพลเมืองคุณภาพที่มีจิตร่วมรับผิดชอบ
– การพัฒนาเมือง/พื้นที่โดยการนำใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะด้านการสร้างภูมิคุ้มกันมุ่งสู่ความยั่งยืน
– การพัฒนาเมืองด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จากของภาครัฐ เอกชน ชุมชน หรือการร่วมพัฒนา/สนับสนุนจากหน่วยงานที่มีพันธกิจ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
– การพัฒนาพื้นที่ฝั่งธนบุรีให้มีจุดประสานงานกลางเพื่อรองรับการทำงานแนว Consortium อย่างเป็นระบบและมีธรรมาภิบาล อาทิ Thonburi Center for Sustainability
ที่มา: เอกสาร ISCN คลองฝั่งธนฯ Local Think Tank: From canal management to local public policy