Goal 1Goal 2Goal 3
+14

รายงาน ESCAP ประจำปี 2568 ประเมินเอเชีย-แปซิฟิกอาจไม่บรรลุ SDGs ทันตามเวลาเผชิญปัญหาการขาดแคลนข้อมูลและสิ่งแวดล้อม

รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี 2568 : การมีส่วนร่วมของชุมชนในการลดช่องว่างด้านข้อมูลหลักฐาน (Asia-Pacific SDG Progress Report 2025: engaging communities to close the evidence gap) โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UNESCAP) ซึ่งเผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2025 นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ
ผลการดำเนินงานและความท้าทายเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

บทความฉบับนี้สรุปข้อค้นพบที่สำคัญจากรายงาน “Asia-Pacific SDG Progress Report 2025: engaging communities to close the evidence gap” เพื่อให้ผู้อ่านทุกคนได้อัพเดตข้อมูลล่าสุดของความก้าวหน้า SDGs ในภูมิภาคของเรา

I. ภาพรวมความก้าวหน้าของ SDGs ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

Figure 1 Snapshot of regional SDG progress since 2015
(ภาพที่ 1 ภาพรวมความคืบหน้า SDG ในระดับภูมิภาคตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558)

Source: Asia and the Pacific SDG Progress Report 2025: engaging communities to close the evidence gap

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นประเด็นหลักที่ต้องเร่งดำเนินการ

เป็นอีกปีที่รายงานชุดนี้ยืนยันการคาดการณ์ว่า จะไม่มี SDGs เป้าหมายใดที่บรรลุได้ทันภายในปี 2030 ถ้าหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับพลิกโฉม ปิดช่องว่างของข้อมูลเพื่อสามารถกำหนดนโยบายให้ครอบคลุมถึงประชากรที่เสี่ยงถูกมองข้ามมากขึ้น ข้อมูลจากการประเมินความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน SDGs ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ระบุว่า ความก้าวหน้าในภูมิภาคนี้ยังดำเนินไปยังอย่างเชื่องช้าหรือหยุดชะงัก

ในการประเมินระดับเป้าหมาย (Goals) ด้วยแนวโน้มระดับนี้ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะสามารถบรรลุทั้ง 17 เป้าหมายนี้ได้ช้ากว่าที่ประชาคมโลกกำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีแนวโน้มถดถอย (Regression) เนื่องจากความเปราะบางของภูมิภาคต่อภัยพิบัติและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases :GHG) อย่างต่อเนื่องที่ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการใช้พลังงานถ่านหินในภูมิภาค โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งของมลพิษก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเองก็ได้มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่า ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) หรือก่อนหน้า โดยกำหนดนโยบายและมาตรที่สอดคล้อง เช่นร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งกำหนดให้ต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและจัดตั้งกลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคบังคับ ได้แก่ ภาษีคาร์บอน และระบบการให้สิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และคาดว่าจะออกกฎหมายรองเพื่อกำหนดมาตรการบังคับใช้ได้ภายในปี 2569 และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) ที่จะเน้นผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในสัดส่วนมากขึ้นเป็น 51% (พลังงานแสงอาทิตย์ 16% พลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ 16% และพลังงานน้ำจากต่างประเทศ 15%)

Figure 2 Dashboard of expected achievements

(ภาพที่ 2  แดชบอร์ดสรุปข้อมูลคาดการณ์แนวโน้มของการบรรลุผล)

Source: Asia and the Pacific SDG Progress Report 2025: engaging communities to close the evidence gap

เมื่อพิจารณาลึกลงไปอีกระดับในเป้าหมายย่อย (Targets) ตาม ภาพที่ 2  จะพบว่า มี 15% หรือ 18 เป้าหมายย่อยที่มีแนวโน้มสวนทางการพัฒนา และครึ่งหนึ่งของประเด็นปัญหาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ระดับความเสื่อมโทรมของที่ดินและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ลดลงจากการประมงอย่างยั่งยืนฉุดรั้งความคืบหน้าด้านทรัพยากรทางทะเล (เป้าหมายที่ 14) และระบบนิเวศบนบก (เป้าหมายที่ 15)

Figure 3 Targets showing negative trends

(ภาพที่ 3 รวมเป้าหมายย่อยที่แสดงแนวโน้มเชิงลบ)

Source: Asia and the Pacific SDG Progress Report 2025: engaging communities to close the evidence gap

เป้าหมายย่อยถดถอยที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม (ภาพที่ 3) ได้แก่ การปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับน้ำรวมถึงทะเลสาบ แม่น้ำ และพื้นที่ป่าชายเลน (เป้าหมายย่อย 6.6) การจัดการอย่างยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ (เป้าหมายย่อย 12.2) ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน (เป้าหมายย่อย 14.7) การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (เป้าหมายย่อย 15.5) และ การเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานทั้งหมดของโลก (เป้าหมายย่อย 7.2)

เป้าหมายย่อยสามเป้าหมายย่อย (1.5, 11.5 และ 13.2) เกี่ยวข้องกับการสร้างความยืดหยุ่นในการรับมือภัยพิบัติ และเป้าหมายย่อยที่ 8 เป้าหมายสี่เป้าหมายย่อย (8.4, 8.8, 8.9 และ 8.b) เกี่ยวข้องกับการจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งคิดเป็นเป้าหมายย่อยสถานะสีแดงที่มีสัดส่วนมากที่สุด ข้อมูลนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ภายในภูมิภาค

ในทางกลับกัน อีกด้านหนึ่ง เป้าหมายหลัก (Goals) ที่มีความก้าวหน้าโดดเด่นมากที่สุดซึ่งเห็นได้ชัดจากภาพข้อมูลการประเมินความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน SDGs (Figure1) คือ เป้าหมายที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และเป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี โดยความก้าวหน้านี้ขับเคลื่อนจากการขยายตัวมากขึ้นของการเข้าถึงเครือข่ายมือถือและการพัฒนาสุขภาพของมารดา ทารก และเด็ก

II. ช่องว่างของข้อมูล: อุปสรรคต่อความก้าวหน้า

ในด้านของข้อมูล (ภาพที่ 2) รายงานเปิดเผยว่า 1 ใน 3 ของเป้าหมายย่อย (Targets) ยังขาดข้อมูลที่เพียงพอที่จะสามารถนำมาประเมินความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน SDGs ได้

จากทั้งหมด 169 เป้าหมายย่อย มี 52 เป้าหมายย่อยที่แสดงสถานะของเป้าหมายเป็นสีเทาซึ่งหมายถึงการไม่สามารถประเมินผลการบรรลุได้เนื่องจากขาดข้อมูล ซึ่งในจำนวนเป้าหมายย่อยที่วัดได้ มีเพียง 14% หรือ 16 เป้าหมายย่อยเท่านั้นที่มีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุได้ทันภายในปี 2030 (แสดงเป็นสีเขียว)

การเผชิญกับข้อมูลที่ไม่เพียงพอเป็นอุปสรรคต่อการทำความเข้าใจประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การออกแบบนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 16 สงบสุข ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายที่ 14 ทรัพยากรทางทะเล และเป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ดังปรากฏข้อมูลใน ภาพที่ 4

Figure 4 Disparate data availability across goals in Asia-Pacific region

(ภาพที่ 4 การมีอยู่ของข้อมูลที่แตกต่างกันในแต่ละเป้าหมายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก)

Source: Asia and the Pacific SDG Progress Report 2025: engaging communities to close the evidence gap

ผลประโยชน์จากการพัฒนาที่ยั่งยืนมักจะไม่ครอบคลุมประชากรกลุ่มเปราะบาง โดยจำแนกตามปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น อายุ (Age) เพศ (Gender) การศึกษา (Education) ถิ่นที่อยู่ (Location) และความมั่งคั่ง (Wealth) ล้วนส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมกันยิ่งทวีความรุนแรงแย่กว่าเดิม ข้อมูลจากรายงานพบว่า ความยากจนและระดับการศึกษาเป็นสองปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ครัวเรือนที่ยากจนในพื้นที่ชนบทที่มีระดับการศึกษาต่ำมีแนวโน้มเสียเปรียบมากที่สุดในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน เช่น น้ำ สุขาภิบาล และพลังงานสะอาด

รายงานนี้จึงยืนยันถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ครอบคลุมประชากรกลุ่มเปราะบางและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพื่อปิดช่องว่างของข้อมูลซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบายอย่างเช่นภาครัฐในการนำข้อมูลเชิงลึกที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มนี้ไปใช้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและภาควิชาการโดยใช้นวัตกรรมต่าง ๆ ในการร่วมมือกันแก้ปัญหา สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของฐานข้อมูลสำหรับการดำเนินงาน การติดตามและประเมินผล SDGs ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค อันจะส่งผลให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถร่างนโยบายได้อย่างเหมาะสมและมั่นใจว่าการพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs นั้นครอบคลุมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้จริง

“ข้อมูลที่ยังคงขาดหายไปและการทำให้ประชากรกลุ่มเปราะบางบางกลุ่มไม่ปรากฏอยู่ในสถิติอย่างเป็นทางการ ซึ่งจำกัดความสามารถของผู้กำหนดนโยบายโดยส่งผลให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

Armida Salsiah Alisjahbana รองเลขาธิการสหประชาชาติและเลขาธิการบริหาร ESCAP เน้นย้ำ

สรุป

การที่หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยมีความพยายามในการประเมินความก้าวหน้านับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เห็นมุมมองภาพรวมเกี่ยวกับการดำเนินการ SDGs ในภูมิภาค ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงแสดงถึงความก้าวหน้าที่ดีแต่ยังสะท้อนถึงสัญญาณเตือนของการถดถอย ทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการขับเคลื่อนงานและพัฒนาอย่างมีทิศทางที่เหมาะสมต่อไป หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลือกที่จะไม่ดำเนินการเพิกเฉยหรือหากประชาชนยังคงใช้ชีวิตที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเชิงลบ ก็จะไม่สามารถพลิกฟื้นเป้าหมายที่ถดถอยให้ดีขึ้นได้ และถึงแม้รายงานจะปรากฏว่ามีความก้าวหน้าในเป้าหมายที่ 3 และ 9 อย่างชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาโดยรวมความคืบหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มไม่สามารถบรรลุผลตามเวลาที่กำหนดไว้กับประชาคมโลกในปี พ.ศ. 2573 บางประเทศโดยเฉพาะในโดยเฉพาะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (LLDCs) และรัฐพัฒนาที่เป็นเกาะเล็ก ๆ (SIDS) ยังรักษาระดับความคืบหน้าไม่ทันกับประเทศอื่นในภูมิภาค ดังนั้น จึงต้องพึงระลึกว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคนและทุกที่ต้องร่วมมือกันพัฒนาระบบสถิติให้มีความคล่องตัว สามารถรับมือกับสภาวะโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงผันผวนอยู่ตลอดและครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม ข้อเสนอจากรายงานได้กล่าวถึง 3 องค์ประกอบที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบสถิติ ได้แก่ การส่งเสริมผู้นำทางการเมืองที่เข้มแข็ง ระดมการลงทุนระยะยาวอย่างยั่งยืนในการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและระบบสถิติ เช่น IT หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสถิติ และสุดท้ายคือการเสริมสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

อ้างอิง

Asia and the Pacific SDG Progress Report 2025 : engaging communities to close the evidence gap. (2026, February 18). ESCAP. Retrieved March 4, 2025, from https://www.unescap.org/kp/2025/asia-and-pacific-sdg-progress-report-2025

Mishra, V. (2025, February 17). Asia-Pacific falling behind on sustainable development and climate targets. United Nations. Retrieved March 4, 2025, from https://news.un.org/en/story/2025/02/1160216

New UN report lauds community-driven innovations in closing SDG data gaps in Asia and the Pacific. (2025, February 18). ESCAP. Retrieved March 4, 2025, from https://www.unescap.org/news/new-un-report-lauds-community-driven-innovations-closing-sdg-data-gaps-asia-and-pacific

ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG Move. (21 กุมภาพันธ์ 2568). ESCAP รายงานความก้าวหน้า เอเชีย-แปซิฟิก ชี้อาจไม่บรรลุ SDGS ภายในปี 2030 ท่ามกลางปัญหา ‘สิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ.’ SDG Move. สืบค้นจาก https://www.sdgmove.com/2025/02/20/escap-sdg-progress-report-highlights-2025/

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. (29 มกราคม 2568). ประเด็นด้านความยั่งยืนที่ต้องจับตาในปี 2568. สืบค้นจาก https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/SUSTAINABLE-ISSUES-2025-CIS3555-FB-2025-01-29.aspx

กลับหน้าข่าวสารและบทความ