You are currently viewing สศช. ร่วมกับคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (HLPF 2019)

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พร้อมคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2562 (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF 2019) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 19 กรกฎาคม 2562 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ภายใต้หัวข้อหลัก “Empowering people and ensuring inclusiveness and equality”

การประชุม HLPF ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council: ECOSOC) เป็นการประชุมประจำปีเพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ร่วมทบทวนความคืบหน้าของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และนำเสนอรายงานผลการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) เพื่อแลกเปลี่ยนความคืบหน้า รวมทั้งแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีและความท้าทายในบริบทของแต่ละประเทศ โดยในการประชุม HLPF ประจำปี 2562  สศช. ได้เข้าร่วมทบทวนและรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานของไทยเพื่อบรรลุ SDGs ในรายเป้าหมายที่ สศช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ได้แก่ เป้าหมายที่ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป้าหมายที่ 10 การลดความเหลื่อมล้ำ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับ “นโยบายประเทศไทย 4.0” ที่กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนประเทศจากเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และการจัดการความท้าทายด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ที่เหมาะสม โดยเฉพาะด้าน STEM และทักษะสำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21 รวมทั้งการดำเนินนโยบายเพื่อเพิ่มทักษะ (Upskill) และปรับเปลี่ยนทักษะ (Reskill) อันจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับคนทำงานในอนาคต นอกจากนี้ ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทยดำเนินนโยบายคุ้มครองทางสังคม และให้ความสำคัญกับประชากรกลุ่มเปราะบาง ส่งเสริมการเข้าถึงทรัพยากรและการบริการอย่างเท่าเทียม และสนับสนุนความเสมอภาคทางโอกาส อาทิ การดูแลสุขภาพถ้วนหน้า โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

แม้ในภาพรวมประเทศสมาชิกมีแนวทางการดำเนินการภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าควรมีการยกระดับการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุ SDGs ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 และเน้นย้ำถึงหลักการสำคัญของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ ลักษณะของ SDGs ที่มีความเชื่อมโยงกันของแต่ละเป้าหมาย การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการนำสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการนำใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง โดย Ms. Inga Rhonda King ประธาน ECOSOC ได้ย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนในการเสริมสร้างศักยภาพด้านข้อมูล ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างกัน ความเชื่อมโยงของเป้าหมายที่ 8 กับเป้าหมายอื่น ๆ รวมทั้งบทบาทของวิทยาศาสตร์ในการกำหนดนโยบาย และการระดมทรัพยากรในระดับภูมิภาค