
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 กระทรวงการต่างประเทศจัดงานเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปีการสถาปนากระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้หัวข้อ “บทบาทความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทยต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 17 หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Partnerships for the Goals)” ณ ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางอรุณี ไฮม์ม รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และพันเอก ดร. ศรัณยู วิริยเวชกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) ร่วมอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อถอดบทเรียนบทบาทความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทยที่จะส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ในงานเสวนาดังกล่าว รองเลขาธิการฯ ได้บรรยายสรุปในประเด็นเกี่ยวกับบทบาทการขับเคลื่อน SDGs ของ สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดทำแผนการขับเคลื่อน SDGs (Thailand’s SDG Roadmap) ครอบคลุมใน 6 ด้าน ได้แก่ (1) การสร้างการตระหนักรู้ (2) การเชื่อมโยง SDGs กับแผน 3 ระดับของประเทศ (3) กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน (4) การดำเนินงานเพื่อบรรลุ SDGs (5) ภาคีการพัฒนา และ (6) การติดตามประเมินผลการขับเคลื่อน SDGs รวมถึงการติดตามและประเมินความก้าวหน้าการขับเคลื่อน SDGs ด้วยข้อมูลตัวชี้วัด ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ สศช. ในการขับเคลื่อน SDGs ทั้งนี้ จากการประเมินความพร้อมของข้อมูลตัวชี้วัด SDGs (data availability) พบว่าประเทศไทยสามารถรวบรวมข้อมูลตัวชี้วัด SDGs ได้จำนวน 236 จาก 248 ตัวชี้วัด พร้อมทั้งได้มีการนำชุดข้อมูลดังกล่าวขึ้นแสดงผลบน Thailand’s SDGs Dashboard ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
สุดท้ายนี้ รองเลขาธิการฯ ได้เน้นย้ำถึงการดำเนินงานเพื่อบรรลุ SDGs อย่างครอบคลุมและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพและความร่วมมือกับภาคีการพัฒนาในทุกระดับ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการยกระดับการใช้ข้อมูลในการติดตามและประเมินผลการขับเคลื่อน SDGs โดยในช่วง 5 ปีสุดท้ายของการขับเคลื่อน SDGs ทิศทางการดำเนินงานจำเป็นต้องมีการเร่งรัด (1) การบูรณาการ SDGs กับนโยบายระดับชาติ (2) การใช้เทคโนโลยีและข้อมูลขับเคลื่อนความร่วมมือ (3) การขยายบทบาทของภาคเอกชนและประชาสังคมและการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ และ (4) ใช้โอกาสจากกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อยกระดับมาตรฐานหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา นอกจากนี้ ยังได้มีการเน้นย้ำถึงความสำคัญของบทบาทการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการขับเคลื่อน SDGs
********************
กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ