You are currently viewing สศช. หารือผู้ประสานงาน UN ร่วมจัดทำรายงานประเมินผลกระทบจากโควิด-19 และการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับประเทศไทย
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายดนุชา  พิชยนันท์ รองเลขาธิการฯ พร้อมด้วยผู้บริหารกองศึกษาและวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ และกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมให้การต้อนรับและประชุมหารือกับ นางกีต้า  ซัพบระวาล (Mrs. Gita  Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (The United Nation Resident Coordinator in Thailand) และคณะ ณ ห้องประชุม 522 สศช.
 
สำหรับประเด็นหารือประกอบด้วย หนึ่ง ความร่วมมือกับหน่วยงานสหประชาชาติในประเทศไทย ได้แก่ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund: UNICEF) โดย UNDP และ UNICEF จะร่วมกันจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 (โควิด-19) สำหรับประเทศไทย ร่วมกับ สศช. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หอการค้าไทย ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เพื่อศึกษาและประเมินผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเสนอแนะนโยบายและมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าวในระดับประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ว่าจะสามารถช่วยให้ไทยก้าวผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาด และสามารถดำเนินงานเพื่อบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และแผนพัฒนาระดับประเทศได้ตามเป้าหมาย โดยทาง UNDP และ UNICEF จะดำเนินการร่วมกับ Economist Intelligence Unit (EIU) ทำการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเงิน และ Oxford Policy Management (OPM) ในการประเมินผลกระทบทางสังคมโดยรวมและต่อกลุ่มเปราะบางที่สุด จากนั้นจะมีการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยความร่วมมือของ TDRI ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าการดำเนินงานจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2563
 
นอกจากนี้ ยังมีโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาศูนย์นวัตกรรมระดับภูมิภาค (Regional Innovation Centre: RIC) ในประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ส่งเสริมการพัฒนาให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความร่วมมือ (Co-creation platform) ภาคีเครือข่ายและผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาคในการสร้างสรรค์วิธีการรับมือกับความท้าทายที่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคที่เผชิญร่วมกัน โดยอาศัยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสร้างนวัตกรรมการแก้ปัญหาใหม่ๆ (Co-creating innovative solutions) โดยมุ่งให้เกิดการออกแบบ ทดลอง และสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ (2) มุ่งพัฒนา RIC ให้เป็นกลไกเชื่อมโยงองค์ความรู้และประสบการณ์จากภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชนทั้งจากในประเทศและในระดับภูมิภาค โดยมุ่งสร้างสรรค์พื้นที่ทดลอง (Safe sandbox) นวัตกรรมเชิงนโยบายผ่านการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และแนวทางใหม่ ๆ ในการพัฒนาและแก้ปัญหาความท้าทายที่สำคัญระดับประเทศและภูมิภาค และ (3) มุ่งพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยให้มีบทบาทที่โดดเด่นในภูมิภาคในการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาของภูมิภาคโดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV โดยให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ โครงการ RIC มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี กำหนดเริ่มดำเนินการปี 2563-2565
 
สำหรับประเด็นหารือที่สอง การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ซึ่งมี สศช. เป็นเลขานุการของคณะกรรมการฯ นั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Thailand’s SDGs Roadmap) ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ (1) การสร้างการตระหนักรู้ (2) การเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับแผน 3 ระดับของประเทศ (3) กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน (4) การจัดทำโครงการ/การดำเนินงาน/การพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (5) ภาคีการพัฒนา และ (6) การติดตามผ่านระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) โดยปัจจุบัน สศช. อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2559-2563 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563 โดยจะร่วมมือกับ UN ในการพัฒนารายงานให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด และจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและประชาคมโลกต่อไป
 
ข่าว: กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
ภาพ: อภิชาติ  แดงดี