วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 นายธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ (กปร.) ในฐานะผู้แทน สศช. ได้เข้าร่วมการประชุม Business at OECD (BIAC) Southeast Asia Meeting ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้แทน BIAC Southeast Asia ผู้แทนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ASEAN-BAC) และผู้แทนสมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย (KADIN) และผู้แทน South Asia/Southeast Asia Division ของ OECD เข้าร่วมการประชุม
BIAC เป็นเครือข่ายภาคเอกชนจากประเทศสมาชิก OECD และผู้สังเกตการณ์ภายนอก ซึ่งรวมถึงองค์กรจากประเทศอาเซียนสององค์กร ได้แก่ สมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย และสภาธุรกิจสิงคโปร์ โดย BIAC มีส่วนร่วมกับ OECD ในการให้ความเห็นจากมุมมองของภาคธุรกิจ รวมถึงด้านความร่วมมือกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีการดำเนินงานความร่วมมือใน OECD Regional Programme โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานในด้านการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะกับภาคธุรกิจในภูมิภาค การส่งเสริมสภาพแวดล้อมการลงทุน และการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและปรับตัวได้
การประชุม Business at OECD (BIAC) Southeast Asia Meeting นี้เป็นหนึ่งในกลไกที่ ฺBIAC จัดขึ้นเพื่อยกระดับความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการหารือระหว่าง BIAC และ OECD กับภาคเอกชนและผู้แทนอื่น ๆ จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้ยุทธศาสตร์และการดำเนินงานของ BIAC ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สอดคล้องและตอบสนองต่อความต้องการและบริบทของภูมิภาคอย่างแท้จริง
ในโอกาสนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือแลกเปลี่ยนมุมมอง โอกาส และกลยุทธ์ในการประสานความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมต่างเน้นย้ำจุดยืน และความสำคัญของการริเริ่มโครงการภายใต้ความร่วมมือของ OECD และกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
โดยลำดับแรก ผู้แทน ASEAN-BAC ได้แสดงความพร้อมและความมุ่งมั่นของ สปป. ลาวในการเป็นเจ้าภาพอาเซียนในปี 2567 ภายใต้หัวข้อหลัก Enhancing Connectivity and Resilience ที่สนับสนุนการเชื่อมโยง การลดช่องว่างการพัฒนา การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ การเชื่อมต่อระหว่างประชาชน (people-to-people exchanges) ไปจนถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างอาเซียนและหุ้นส่วนความร่วมมือภายนอก โดยเน้นการดำเนินงานในหกประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล การพัฒนาอย่างยั่งยืน ความสามารถในการรับมือด้านสาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร การส่งเสริมการค้าการลงทุน และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ประกอบกับการผลักดัน Legacy Projects ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมระหว่างภูมิภาคอาเซียนที่สอดคล้องกับการดำเนินงานทั้งหกประเด็นด้วย
ในส่วนของผู้แทน KADIN ของอินโดนีเซีย ได้มีกล่าวถึงความคืบหน้าและความสำเร็จของอินโดนีเซียในการร่วมมือกับ OECD ในฐานะ Key partner โดย KADIN ได้ร่วมมือกับ ASEAN-BAC เพื่อสะท้อนความต้องการของอาเซียนและอินโดนีเซียกับ OECD ตั้งแต่ปี 2566 ทำให้อินโดนีเซียมีการพัฒนาทั้งในด้าน กฎหมาย ภาษี โครงสร้างพื้นฐาน รายได้ และการค้ามากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ของอินโดนีเซีย ซึ่งอินโดนีเซียมองว่าเป็นการได้ประโยชน์ทั้งในการได้รับแนวปฏิบัติที่ดีจาก OECD และส่งเสริมบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่อย่างอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ ผู้แทน สศช. ได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างไทยและ OECD ใน Country Programme ทั้งสองระยะ รวมถึงการดำเนินการในปัจจุบันเพื่อผลักดันการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย และแจ้งให้ที่ประชุมทราบเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD พร้อมทั้งกล่าวถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ให้กับภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์นี้
ผู้แทน South Asia/Southeast Asia Division OECD ได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง OECD และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมุ่งเน้นด้านการกำกับการภาคธุรกิจ การเปิดตลาด การส่งเสริมและสนับสนุนภาคส่วนต่างๆ และการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการ โดยมีความร่วมมือหลักกับอาเซียนผ่าน Southeast Asia Regional Programme ซึ่งสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอแนะและแนวทางของอาเซียน รวมทั้งการเผยแพร่รายงานต่าง ๆ เช่น รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และอินเดีย (Economic Outlook for Southeast Asia, China and India)
สศช. ในฐานะผู้ประสานงานหลักในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย จะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการสร้างความตระหนักรู้ ให้กับภาคเอกชน ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 โดยผู้แทนOECD Global Relations and Co-operation Directorate (GRC) และ BIAC จะมีการจัดทำคลิปเพื่อเผยแพร่ข้อมูลความร่วมมือระหว่าง OECD กับไทย และมุมมองต่อภาคธุรกิจเอกชน ตลอดจนบทบาทของภาคเอกชนใน OECD และประโยชน์ที่ภาคเอกชนจะได้รับ โดย สศช. จะสนับสนุนให้ภาคเอกชน
มีส่วนร่วมกับ BIAC มากขึ้นผ่านกลไก อาทิ ASEAN-BAC ซึ่งภาคเอกชนไทยเป็นสมาชิกอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และได้รับประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยอย่างแท้จริง
สามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ Business at OECD ได้ที่ https://www.businessatoecd.org/
สามารถติดตามความก้าวหน้าการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ได้ที่ bit.ly/45OiXLG