You are currently viewing อสม. รากฐานของสาธารณสุขไทย

         บทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการระบาดของไข้หวัดนกไว้ในปี 2550 ตลอดจนการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ถือว่ามีความโดดเด่น และเป็นที่ประจักษ์ในสายตานานาชาติ โดยได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความรู้และเฝ้าระวังการระบาดฯ ในระดับชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการติดเชื้อ COVID-19 มากที่สุดในโลก (ThaiPBS, 2563)

         อสม. เป็นแนวความคิดที่ได้รับการบรรจุในแผนการพัฒนาสาธารณสุขฉบับที่ 4 (2520-2524) ซึ่งมุ่งเน้นการแก้ไขและลดช่องว่างของปัญหาสาธารณสุข (กระทรวงสาธารณสุข, 2559) โดย อสม. เป็นอาสาสมัครชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้สามารถทำการรักษาพยาบาลได้อย่างง่าย (Primary Care) สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลสุขภาพด่านแรกของตนเอง ครอบครัว และชุมชน (Front-line Service) และยังถือเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญของระบบสุขภาพไทย ช่วยลดช่องว่างที่เจ้าหน้าที่รัฐเพียงลำพังไม่สามารถทำได้อย่างครอบคลุม โดยหน้าที่หลักของ อสม. จะดำเนินการแจ้งข่าวสารด้านสาธารณสุขแก่ชาวบ้าน เช่น การประกาศแจ้งเรื่องโรคระบาดหรือโรคติดต่อในท้องถิ่น การให้คำแนะนำชาวบ้านทั้งการใช้ยา การรักษาอนามัยร่างกาย การส่งเสริมสุขภาพจิต การป้องกันอุบัติเหตุ รวมถึงเป็นผู้ให้บริการแก่ประชาชนอย่างการติดตามดูแลผู้ป่วยตามบ้าน ปัจจุบันมีเครือข่าย อสม. จำนวนมากกว่า 1 ล้านคน ทั่วประเทศ โดย อสม. 1 คน จะดูแลประชากรในละแวกใกล้เคียงจำนวน 20 หลังคาเรือน (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 2563)

          ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 อสม. ได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด โดยมุ่งสำรวจ และสร้างความรู้ในระดับครัวเรือน ให้คำแนะนำในการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และออกกำลังกาย” (สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ, 2563) ดำเนินการคัดกรองกลุ่มปกติและกลุ่มเสี่ยง และส่งต่อกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน ตลอดจนการเยี่ยมติดตามและรายงานผล นอกจากนี้ อสม. ยังได้เป็นตัวแทนในการรับและกระจายยาให้กับผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังในช่วงวิกฤตโควิด (Grab Drug) โดยมีจุดเริ่มต้นในจังหวัดเชียงราย และได้ขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้สามารถเข้าถึงยาได้อย่างต่อเนื่อง 

ที่มารูปภาพ: กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข