เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่

เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่

ภาพจากการประกวดภาพถ่าย “ส่งเสริมยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยพลังภาพถ่ายที่สร้างสรรค์”

         ความยากจนเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการพัฒนาทุนมนุษย์และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งความยากจนไม่เพียงแต่หมายถึงความขัดสนทางด้านรายได้ในการดำรงชีพเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงวิถีชีวิตและความอยู่ดีมีสุขในทุกมิติตลอดช่วงชีวิตของมนุษย์ จึงทำให้การแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นวาระการพัฒนาหลักของหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย โดยการยุติความยากจนให้หมดสิ้นไปต้องดำเนินการให้ครอบคลุมอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเปราะบางที่มีความท้าทายในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการขั้นพื้นฐาน อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจและสังคม

         ในระยะที่ผ่านมา สถานการณ์ความยากจนของประเทศไทยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยสามารถลดสัดส่วนคนจนลงจากร้อยละ 8.61 ในปี 2559 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.24 ในปี 2562 และเมื่อพิจารณาความยากจนหลายมิติ พบว่าสัดส่วนคนจนหลายมิติลดลงจากร้อยละ 20.3 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 13.4 ในปี 2562 ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐแก่ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง สะท้อนให้เห็นจากสัดส่วนของเด็ก ผู้พิการ และผู้สูงอายุที่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม โดยในปี 2561 มีสัดส่วนเด็กยากจนที่ได้รับเงินอุดหนุนร้อยละ 84.5 ของเด็กยากจนทั้งหมด และมีสัดส่วนผู้พิการที่ได้รับเบี้ยผู้พิการร้อยละ 75.6 ของผู้พิการทั้งหมด และในปี 2562 มีผู้สูงอายุ
ที่ได้รับสวัสดิการเบี้ยยังชีพคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 81.7 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด

          นอกจากนี้ ยังพบว่าคนไทยส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน โดยในปี 2562 ครัวเรือนยากจนสามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ร้อยละ 98.80 น้ำประปาร้อยละ 72.30 และโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ทโฟนร้อยละ 56.99 อีกทั้งครัวเรือนไทยร้อยละ 75.3 เป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนยากจนยังเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้อย่างจำกัด โดยครัวเรือนยากจนเพียงร้อยละ 1.60 สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ขณะที่ครัวเรือนไม่ยากจนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ร้อยละ 60.87 นอกจากนี้ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ได้มีการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 รวมทั้งผลักดันให้มีแผนและกิจกรรมการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระดับท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งในปี 2563 ร้อยละ 50 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ อันประกอบด้วยอุทกภัย ภัยแล้ง วาตภัย และอัคคีภัย พบว่าในช่วงปี 2559 – 2561 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีประชากรที่ประสบภัยพิบัติ จำนวน 1,845 คน ต่อประชากร 100,000 คน ลดลงจาก 6,553 คน ต่อประชากร 100,000 คน ในปี 2559 โดยภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ อุทกภัย และภัยแล้ง ตามลำดับ

ดูสถานการณ์ในภาพรวมของโลกเพิ่มเติมได้ที่ https://sdgs.un.org/goals/goal1 

 

เป้าหมายย่อย 1.1

เป้าหมายย่อย 1.1

          ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนในทุกพื้นที่ให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพรายวันต่ำกว่า $1.90 ต่อวัน

เป้าหมายย่อย 1.2

เป้าหมายย่อย 1.2

          ภายในปี พ.ศ. 2573 ลดสัดส่วน ชาย หญิง และเด็ก ในทุกช่วงวัย ที่อยู่ภายใต้ความยากจนในทุกมิติ ตามนิยามของแต่ละประเทศ ให้ลดลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง

เป้าหมายย่อย 1.3

เป้าหมายย่อย 1.3

          ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมระดับประเทศที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงฐาน การคุ้มครองทางสังคม (floors) โดยให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรยากจน และกลุ่มเปราะบางให้มากพอ ภายในปี พ.ศ. 2573

เป้าหมายย่อย 1.4

เป้าหมายย่อย 1.4

          ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ยากจนและเปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมกันในทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและมีสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินในรูปแบบอื่น มรดก ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสม และบริการทางการเงิน ซึ่งรวมถึงระบบการเงินระดับฐานราก (microfinance)

เป้าหมายย่อย 1.5

เป้าหมายย่อย 1.5

          ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างภูมิต้านทานให้กับผู้ที่ยากจนและอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง รวมทั้งลดความเสี่ยงและความล่อแหลมต่อภาวะสภาพอากาศผันผวนรุนแรง การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ

เป้าหมายย่อย 1.A

เป้าหมายย่อย 1.A

          สร้างหลักประกันว่าจะมีการระดมทรัพยากรอย่าง มีนัยสำคัญจากแหล่งที่หลากหลาย รวมไปถึงการยกระดับ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีวิธีการที่เพียงพอและคาดการณ์ได้ในการดำเนินงานตามแผนงานและนโยบายเพื่อยุติความยากจนในทุกมิติ

เป้าหมายย่อย 1.B

เป้าหมายย่อย 1.B

          สร้างกรอบนโยบายที่เหมาะสมในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ บนฐานของยุทธศาสตร์การพัฒนา ที่เอื้อประโยชน์แก่คนจน (pro-poor) และคำนึงถึงความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ (gender-sensitive) เพื่อส่งเสริมให้มีการเร่งการลงทุนเพื่อปฏิบัติการขจัดความยากจน

Case Study

          บ้านชากไทย ตั้งอยู่ที่ อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เป็นหนึ่งในต้นแบบการบริหารจัดการหนี้สินภายในชุมชน เพื่อตอบสนองนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งมุ่งเน้นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากชุมชน ผ่านการบริหารจัดการเงินทุนที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด…. อ่านเพิ่มเติม

          บ้านชากไทย ตั้งอยู่ที่ อำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี เป็นหนึ่งในต้นแบบการบริหารจัดการหนี้สินภายในชุมชน เพื่อตอบสนองต่อนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งมุ่งเน้นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากชุมชน ผ่านการบริหารจัดการเงินทุนที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด…. อ่านเพิ่มเติม

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านอื่นๆ

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านอื่นๆ