เป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

เป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

ภาพจากการประกวดภาพถ่าย “ส่งเสริมยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยพลังภาพถ่ายที่สร้างสรรค์”

            การขับเคลื่อนรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน มีความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตระหนักถึงต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและบริการของบริษัท องค์กร ตลอดจนกรอบคิดและพฤติกรรมของประชาชน  ให้มีความสอดคล้องกับความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ ผ่านการดำเนินงานอย่างบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ตั้งแต่ระดับนโยบายตลอดจนการนำไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่อย่างครอบคลุมและเป็นรูปธรรมในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การกำหนดให้มีแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศ การลดการสูญเสียและขยะอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน การจัดการของเสียและสารเคมีอย่างถูกวิธีเพื่อลดมลพิษที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม การลดของเสียโดยสนับสนุนหลักปฏิบัติในการลดการใช้ การใช้ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ (Reduce, Reuse, Recycle: 3Rs) การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อยกระดับการผลิตและการบริโภค การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเพื่อขับเคลื่อนประเทศในระยะยาว

            ประเทศไทยได้จัดทำแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560 – 2580 (ฉบับปรับปรุง) เพื่อวางกรอบการดำเนินงานเพื่อปรับเปลี่ยนสังคมไทยสู่สังคมที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และสมดุลกับฐานทรัพยากรของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาเพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ สร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 และในภาคธุรกิจนักลงทุนและ  ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยในปี 2563 บริษัทจดทะเบียนไทยร้อยละ 20.14 จัดทำรายงานความยั่งยืนตามความสมัครใจและเปิดเผยข้อมูลในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวที่มีกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยระหว่างปี 2554 – 2563 มีโรงงาน/สถานประกอบการได้รับใบรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวรวมทั้งสิ้น 40,799 ใบรับรอง และตั้งเป้าหมายให้โรงงานอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีอยู่กว่า 71,130 โรงทั่วประเทศ พัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวภายในปี 2568 นอกจากนี้ ภาคพลังงานได้ลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นจากสัดส่วนกำลังผลิตติดตั้งของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต่อหัวประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 136.90 วัตต์ต่อคนในปี 2559 เป็น 163.82 วัตต์ต่อคนในปี 2561 อีกทั้งยังเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ตระหนักถึงผลกระทบต่อชุมชน ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งเตรียมการจัดทำบัญชีต้นทุนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (System of Environmental-Economic Accounting: SEEA) ร่วมกับบัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยว (Tourism Satellite Account) เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของการท่องเที่ยวต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

            อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายสำคัญด้านการสูญเสียและขยะอาหาร โดยคาดการณ์ว่าประเทศไทยมีปริมาณขยะอาหารประมาณ 78.69 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง และยังขาดการติดตามและจัดเก็บข้อมูลด้านการสูญเสียและขยะอาหารอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนควรเร่งดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะและของเสียอันตราย เนื่องจากมีปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สัดส่วนของขยะมูลฝอยที่ได้รับการกำจัดถูกต้องมีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 35.37 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 34.17 ในปี 2562 เช่นเดียวกันกับการจัดการของเสียติดเชื้อจากชุมชน ซึ่งในปี 2562 ของเสียอันตรายชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียงร้อยละ 16.13

เป้าหมายย่อย 12.1

        ดำเนินการให้เป็นผลตามกรอบระยะ 10 ปีของแผนงานว่าด้วยแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ทุกประเทศนำไปปฏิบัติโดยประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำ โดยคำนึงถึงการพัฒนาและขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนา

เป้าหมายย่อย 12.2

        บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี พ.ศ. 2573

เป้าหมายย่อย 12.3

        ลดของเสียอาหาร (food waste) ของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหาร (food loss) ตลอดการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี พ.ศ. 2573

เป้าหมายย่อย 12.4

        บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี พ.ศ. 2563

เป้าหมายย่อย 12.5

        ลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดปริมาณ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ ภายในปี พ.ศ. 2573

เป้าหมายย่อย 12.6

        สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และบูรณาการข้อมูลด้านความยั่งยืนไว้ในรอบการรายงานของบริษัทเหล่านั้น

เป้าหมายย่อย 12.7

        ส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่ยั่งยืน ตามนโยบายและการให้ลำดับความความสำคัญของประเทศ

เป้าหมายย่อย 12.8

      สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและมีความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ภายในปี พ.ศ. 2573

เป้าหมายย่อย 12.A

      สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการเสริมความแข็งแกร่งของขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนไปสู่แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น

เป้าหมายย่อย 12.B

      พัฒนาและดำเนินการใช้เครื่องมือเพื่อติดตามผลกระทบของการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่สร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

เป้าหมายย่อย 12.C

      ทำให้การอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไร้ประสิทธิภาพและนำไปสู่การบริโภคที่สิ้นเปลืองมีความสมเหตุสมผล โดยกำจัดการบิดเบือนทางการตลาด ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศ รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีและเลิกการอุดหนุนที่เป็นภัยเหล่านั้น เพื่อสะท้อนให้เห็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

Case Study

Case study – SDG 12

          Chula Zero Waste หรือโครงการพัฒนาต้นแบบการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายอย่างยั่งยืนในจุฬาลงกรณ์ เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม สำนักบริหารระบบกายภาพ และเครือข่ายคณาจารย์และนิสิต เพื่อพัฒนาระบบการจัดการขยะอย่างครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่การบรรจุหลักสูตรการคัดแยกและจัดการขยะในระบบการศึกษา กิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ และการปฏิบัติจริงทั้งในบริเวณมหาวิทยาลัย และพื้นที่ภาคีเครือข่าย บนพื้นฐานหลักการ 3R (Reduce, Reuse, Recycle) .. อ่านเพิ่มเติม

Case study - SDG 13

          โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) เป็นโครงการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศด้วยความสมัครใจ โดยสามารถนำปริมาณการลดหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านการรับรอง ที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศได้ ตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการพัฒนาโครงการที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) กำหนด…. อ่านเพิ่มเติม

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านอื่นๆ