ภาพจากการประกวดภาพถ่าย “ส่งเสริมยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยพลังภาพถ่ายที่สร้างสรรค์”
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 17 มุ่งยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก โดยเฉพาะความร่วมมือหลายภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใน ทุกประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านการระดมทุนที่เป็นตัวเงิน เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ตามความต้องการ จนสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ภายในปี 2573
จากข้อมูลในระยะที่ผ่านมา พบว่าความสามารถในการระดมเงินทุนเพื่อการพัฒนาของไทยในภาพรวมอยู่ในระดับที่เหมาะสม เห็นได้จากสัดส่วนรายได้สุทธิของรัฐต่อ GDP และสัดส่วนงบประมาณภายในประเทศที่จัดสรรจากภาษีภายในประเทศที่สูงกว่าค่าเป้าหมาย ในขณะที่สัดส่วนภาระการชำระหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการของลดลงอย่างต่อเนื่องและอยู่ในระดับต่ำกว่าเพดานที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิที่รวมการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Net FDI) ในปี 2562 พบว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2554-2561 ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินการเพื่อเสริมสร้างบทบาทความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ผ่านการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศในหลายรูปแบบตามสาขาต่าง ๆ ดังนี้ (1) สาขาเทคโนโลยี โดยมูลค่าการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่ประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงมูลค่าเงินทุนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา (2) สาขาการเสริมสร้างขีดความสามารถ (capacity building) โดยได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในมิติการพัฒนาที่หลากหลาย ครอบคลุมการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี การสนับสนุนวัสดุและอุปกรณ์ และการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญและอาสาสมัครไปปฏิบัติหน้าที่ยังต่างประเทศ และ (3) สาขาการค้า โดยได้ปฏิบัติตามพันธะสัญญาทางด้านภาษีขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) และได้ให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ด้วยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (Duty Free Quota Free: DFQF) แก่สินค้าที่ส่งมายังประเทศไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้มีการดำเนินการภายในประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน SDGs มาอย่างต่อเนื่อง
เป้าหมายย่อย 17.1
เสริมความแข็งแกร่งของการระดมทรัพยากรภายในประเทศ โดยรวมถึงการสนับสนุนระหว่างประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนา เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของประเทศในการเก็บภาษีและรายได้อื่นๆ ของรัฐ
เป้าหมายย่อย 17.2
ประเทศพัฒนาแล้วจะดำเนินการให้เป็นผลตามพันธกรณีเรื่องการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) อย่างเต็มที่ โดยรวมถึงพันธกรณีที่ให้ไว้โดยประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่จะบรรลุเป้าหมายการมีสัดส่วน ODA/GNI ที่ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ร้อยละ 0.7 และมีสัดส่วน ODA/GNI ที่ให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดร้อยละ 0.15 ถึง ร้อยละ 0.20 โดยผู้ให้ ODA ควรพิจารณาตั้งเป้าหมายที่จะให้มีสัดส่วน ODA/GNI ที่ให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
เป้าหมายย่อย 17.3
ระดมทรัพยากรทางการเงินสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มเติม จากแหล่งที่หลากหลาย
เป้าหมายย่อย 17.4
ช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการบรรลุความยั่งยืนของหนี้ระยะยาว โดยใช้นโยบายที่ประสานงานกันที่มุ่งส่งเสริมการจัดหาเงินทุนโดยการก่อหนี้ การบรรเทาหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ตามความเหมาะสม และแก้ปัญหาหนี้ต่างประเทศของประเทศยากจนที่มีหนี้สินในระดับสูงเพื่อลดการประสบปัญหาหนี้ (debt distress)
เป้าหมายย่อย 17.5
ใช้และดำเนินการให้เกิดผลตามระบอบการส่งเสริมการลงทุนสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
เป้าหมายย่อย 17.6
เพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศและในภูมิภาคแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี และการเข้าถึงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม และยกระดับการแบ่งปันความรู้ ตามเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกัน โดยรวมถึงผ่านการพัฒนาการประสานงานระหว่างกลไกที่มีอยู่เดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับของสหประชาชาติ และผ่านทางกลไกอำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยี (Technology Facilitation Mechanism) ของโลก
เป้าหมายย่อย 17.7
ส่งเสริมการพัฒนา การถ่ายทอด และการเผยแพร่เทคโนโลยี ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศกำลังพัฒนา ภายใต้เงื่อนไขที่อำนวยประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งตามเงื่อนไขสิทธิพิเศษตามที่ตกลงร่วมกัน
เป้าหมายย่อย 17.8
ให้ธนาคารเทคโนโลยีและกลไกการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ทำงานได้อย่างเต็มที่ภายในปี พ.ศ. 2560 และเพิ่มพูนการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
เป้าหมายย่อย 17.9
เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
เป้าหมายย่อย 17.10
ส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีที่เป็นสากล มีกติกา เปิดกว้าง ไม่เลือกปฏิบัติ และเสมอภาค ภายใต้องค์การการค้าโลก โดยรวมถึงผ่านข้อสรุปของการเจรจาภายใต้วาระการพัฒนารอบโดฮา
เป้าหมายย่อย 17.11
เพิ่มส่วนแบ่งการส่งออกของประเทศกำลังพัฒนาให้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมุ่งเพิ่มส่วนแบ่งของประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในการส่งออกทั่วโลกให้สูงขึ้น 2 เท่าในปี พ.ศ. 2563
เป้าหมายย่อย 17.12
ทำให้เกิดการดำเนินการในเวลาที่เหมาะสมในเรื่องการเข้าถึงตลาดปลอดภาษีและปลอดการจำกัดปริมาณในระยะยาวสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยให้สอดคล้องกับคำตัดสินขององค์การการค้าโลก โดยรวมถึงการสร้างหลักประกันว่ากฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่มีการให้สิทธิพิเศษทางการค้าที่ใช้กับประเทศพัฒนาน้อยที่สุดจะมีความโปร่งใสและเรียบง่ายและมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตลาด
เป้าหมายย่อย 17.13
เพิ่มพูนเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคของโลก โดยรวมถึงผ่านทางการประสานงานนโยบายและความสอดคล้องเชิงนโยบาย
เป้าหมายย่อย 17.14
สร้างกรอบนโยบายที่เหมาะสมในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ บนฐานของยุทธศาสตร์การพัฒนา ที่เอื้อประโยชน์แก่คนจน (pro-poor) และคานึงถึงความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ (gender-sensitive) เพื่อส่งเสริมให้มีการเร่งการลงทุนเพื่อปฏิบัติการขจัดความยากจน
เป้าหมายย่อย 17.15
เคารพพื้นที่ทางนโยบายและความเป็นผู้นำของแต่ละประเทศที่จะสร้างและดำเนินงานตามนโยบายเพื่อการขจัดความยากจนและการพัฒนาที่ยั่งยืน
เป้าหมายย่อย 17.16
ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มโดยหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี และทรัพยากรทางการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
เป้าหมายย่อย 17.17
สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
เป้าหมายย่อย 17.18
ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้ จำแนกตามรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความพิการ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563
เป้าหมายย่อย 17.19
ต่อยอดจากข้อริเริ่มที่มีอยู่แล้วในการพัฒนาการวัดความก้าวหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถด้านสถิติในประเทศกำลังพัฒนา ภายในปี พ.ศ. 2573
Case Study
Case study – SDG 17
การทูตเพื่อการพัฒนา: ไทยสนับสนุนติมอร์ เลสเต ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
ภายหลังสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเตได้รับเอกราชจากอินโดนีเซีย ไทยได้ให้ความช่วยเหลือติมอร์-เลสเตเพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศของติมอร์-เลสเต ในด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ติมอร์ เลสเต สามารถพัฒนาได้อย่างครอบคลุมและยั่งยืน ในปัจจุบัน ไทยและติมอร์-เลสเต อยู่ระหว่างการจัดทำแผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ระยะ 3 ปี ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2563-2565)….อ่านเพิ่มเติม