เป้าหมายที่ 7 สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน
ภาพจากการประกวดภาพถ่าย “ส่งเสริมยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยพลังภาพถ่ายที่สร้างสรรค์”
พลังงานเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ และการดำเนินกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งความต้องการใช้พลังงานมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาแหล่งพลังงานที่ใช้แล้วหมดไปหรือพลังงานจากฟอสซิลที่สามารถจัดหาได้อย่างสะดวกและง่ายต่อใช้งานในหลายกิจกรรม ส่งผลให้ภาคพลังงานมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด และเป็นปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยเหตุนี้ พลังงานสะอาดโดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนจึงเป็นทางเลือกในการยกระดับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงานไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและหาซื้อพลังงานหมุนเวียนได้ง่ายขึ้น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต รวมทั้งตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงาน การเพิ่มบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคแห่งการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานได้ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านพลังงาน โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น โดยในปี 2562 ครัวเรือนกว่าร้อยละ 99.8 สามารถเข้าถึงไฟฟ้า แม้ประเทศไทยจะมีแนวโน้มการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2562 ภาคพลังงานมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เฉลี่ย 1.89 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) ลดลงจาก 1.94 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 ktoe ในปี 2559 อย่างไรก็ตาม ภาคพลังงานของไทยยังคงพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลเป็นหลัก ดังนั้น ประเทศไทยจึงตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งในระหว่างปี 2559 – 2563 สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.8 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 15.1 ในปี 2563 และค่าความเข้มของการใช้พลังงาน (Energy Intensity: EI) มีแนวโน้มลดลง โดยค่าความเข้มของการใช้พลังงานในปี 2563 อยู่ที่ 7.49 ktoe ต่อพันล้านบาท คิดเป็นผลการประหยัดพลังงานเท่ากับ 10,608 ktoe ลดลงจากปี 2559 ที่มีค่า EI อยู่ที่ 8.12 ktoe ต่อพันล้านบาท นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีด้านไฟฟ้าเพื่อยกระดับโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย สามารถรองรับและเชื่อมต่อกับแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยการส่งเสริมระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือสมาร์ทกริด อย่างไรก็ดี สัดส่วนการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานยังคงน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
เป้าหมายย่อย 7.1
เป้าหมายย่อย 7.1
สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี พ.ศ. 2573
เป้าหมายย่อย 7.2
เป้าหมายย่อย 7.2
เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก (global energy mix) ภายในปี พ.ศ. 2573
เป้าหมายย่อย 7.3
เป้าหมายย่อย 7.3
เพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโลกให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในปี พ.ศ. 2573
เป้าหมายย่อย 7.A
เป้าหมายย่อย 7.A
ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี พ.ศ. 2573
เป้าหมายย่อย 7.B
เป้าหมายย่อย 7.B
ขยายโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการจัดส่งบริการพลังงานสมัยใหม่และยั่งยืนโดยถ้วนหน้าในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ที่สอดคล้องกับโครงการสนับสนุนของประเทศเหล่านั้น ภายในปี พ.ศ. 2573
Case Study
แนวคิดของการจัดตั้งกองทุนแสงอาทิตย์มีที่มาจาก พระครูวิมลปัญญาคุณ จากวัดป่าศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานี ริเริ่มนำโซลาร์เซลล์มาใช้ในวัดเพื่อลดค่าใช้จ่าย และหยิบยกประเด็นเรื่องพลังงานทดแทนมาประยุกต์ในการสอนนักเรียน กลายเป็นศูนย์อบรมโซล่าร์เซลล์ให้แก่ประชาชนทั่วไป และเป็นต้นแบบการผลิตพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ชุมชน วัด ที่ไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ ซึ่งแนวคิดการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ห่างไกลได้ขยายความร่วมมือไปสู่ภาคประชาชน โดยจัดตั้งเป็นกองทุนแสงอาทิตย์ (Thailand Solar Fund) ซึ่งเป็นความร่วมมือของเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศในนามคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) เครือข่ายภาคประชาสังคม ด้านศาสนา ด้านการพัฒนาเด็ก ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน…. อ่านเพิ่มเติม