ภาพจากการประกวดภาพถ่าย “ส่งเสริมยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยพลังภาพถ่ายที่สร้างสรรค์”
ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ ทั้งด้านรายได้ ความมั่งคั่ง โอกาสการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ โครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทรัพยากรที่จำเป็น และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าวเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำจึงเป็นประเด็นการพัฒนาที่สำคัญของไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็วจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างกลุ่มคน อันนำมาซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมากขึ้นในสังคม
ในช่วงปี 2559-2562 สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำของรายได้ โดยรายได้ต่อหัวของกลุ่มประชากร ร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด (Bottom 40) มีอัตราเพิ่มขึ้น ทำให้ช่องว่างของรายได้ระหว่างคนในกลุ่มชั้นรายได้ต่าง ๆ ลดลง อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สิน ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากไทยยังไม่ได้มีการปรับปรุงระบบภาษีเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งนี้ ไทยได้ริเริ่มดำเนินการโครงการต่าง ๆ และจัดตั้งสวัสดิการสังคมจากภาครัฐเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสความเท่าเทียมในการดำรงชีวิตและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจนและกลุ่มคนด้อยโอกาส อาทิ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยผู้พิการ และมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เป้าหมายย่อย 10.1
บรรลุการเติบโตของรายได้ของกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด อย่างก้าวหน้าและยั่งยืน โดยให้มีอัตราเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2573
เป้าหมายย่อย 10.2
เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความพิการ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
เป้าหมายย่อย 10.3
สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
เป้าหมายย่อย 10.4
นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า
เป้าหมายย่อย 10.5
ปรับปรุงกฏระเบียบและการติดตามตรวจสอบตลาดการเงินและสถาบันการเงินของโลก และเสริมความแข็งแกร่งในการดำเนินการตามกฎระเบียบดังกล่าว
เป้าหมายย่อย 10.6
สร้างหลักประกันว่าจะมีตัวแทนและเสียงของประเทศกำลังพัฒนาในการตัดสินใจในสถาบันการเงินและเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เป็นสถาบันที่มีประสิทธิผลน่าเชื่อถือ มีความรับผิดชอบ และมีความชอบธรรมมากขึ้น
เป้าหมายย่อย 10.7
อำนวยความสะดวกในการโยกย้ายถิ่นฐานและเคลื่อนย้ายของคนให้เป็นระเบียบ ปลอดภัย ปกติ และมีความรับผิดชอบ รวมถึงให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายด้านการอพยพที่มีการวางแผนและการจัดการที่ดี
เป้าหมายย่อย 10.A
ปฏิบัติตามหลักการปฏิบัติอย่างเป็นพิเศษและแตกต่าง (special and differential treatment: S&D) สำหรับประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
ให้สอดคล้องตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก
เป้าหมายย่อย 10.B
สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) และการไหลของเงิน รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไปยังรัฐที่มีความจำเป็นมากที่สุด โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ประเทศแถบแอฟริกา รัฐกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก และประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล โดยให้สอดคล้องกับแผนและแผนงานของประเทศเหล่านั้น
เป้าหมายย่อย 10.C
ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมของการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานย้ายถิ่น (migrant remittance) ให้ต่ำกว่าร้อยละ 3 และขจัดการชำระเงินระหว่างประเทศ (remittance corridors) ที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าร้อยละ 5 ภายในปี พ.ศ. 2573
Case Study
Case study – SDG 10
โครงการ 1 ไร่ 1 แสน ปัญหาอันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้นั้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว ยังส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรฐานราก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น….อ่านเพิ่มเติม