ภาพจากการประกวดภาพถ่าย “ส่งเสริมยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยพลังภาพถ่ายที่สร้างสรรค์”
มหาสมุทรและทะเลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก ไม่ว่าจะเป็นวัฏจักรฝน น้ำดื่ม ภูมิอากาศ ชายฝั่ง รวมถึงแหล่งอาหารและกิจกรรมต่าง ๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับมหาสมุทรและทะเล ด้วยเหตุนี้ การบริหารจัดการทรัพยากรในมหาสมุทรและทะเลจึงมีความซับซ้อนและมีความเกี่ยวข้องกับมิติสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม กฎระเบียบและกฎหมายระหว่างประเทศ ในส่วนของประเทศไทยมีพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง คิดเป็นร้อยละ 60 ของอาณาเขตทางบก ครอบคลุม 23 จังหวัด ทรัพยากรทางทะเลเหล่านี้ได้สร้างประโยชน์มหาศาลในการหล่อเลี้ยงชีวิต และยังเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ปัญหาท้องทะเลไทยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มลพิษทางทะเล ปรากฏการณ์ทะเลกรด (Ocean Acidification) การกัดเซาะชายฝั่ง ปริมาณสัตว์ทะเลลดลง รวมถึงด้านการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง ได้แก่ ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และการควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated (IUU) Fishing) และการทำประมงพื้นบ้าน จากความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นกับมหาสมุทรและท้องทะเล จึงเป็นที่มาของการดำเนินการภายใต้ SDG 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยประเทศไทยได้บูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทรัพยากรท้องทะเลไทยฟื้นฟูกลับสู่ความสมบูรณ์ รวมถึงปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกมิติด้านการพัฒนา เพื่อสร้างความยั่งยืนของท้องทะเลไทยให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต
ในระยะที่ผ่านมา ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และมีความก้าวหน้าในการจัดทำคู่มือการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลซึ่งตั้งอยู่บนหลักการของการจัดการที่มีระบบนิเวศเป็นศูนย์กลาง (Ecosystem-based management) และการวางแผนพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง (Coastal and Marine Spatial Planning: CMSP) เพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ทะเลและชายฝั่งให้ครอบคลุมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และได้ดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated (IUU) Fishing) จนสามารถปลดใบเหลืองที่คณะกรรมาธิการยุโรปประเมินว่าประเทศไทยไม่ให้ความร่วมมือตามกฎระเบียบ IUU ได้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 โดยประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ทั้งในด้านการต่อต้านการทำประมง IUU และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาทิ การผลักดันการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ASEAN Network for Combating Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: AN-IUU) นอกจากนี้ ประเทศไทยได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัยด้านทะเลอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาวิจัยด้านเทคโนโลยีทางทะเลแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 230 ล้านบาท ระหว่างปี 2559 – 2562
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงมีความท้าทายสำคัญในการใช้ประโยชน์และบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในการป้องกันและลดมลพิษทางทะเล ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนและต้องแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทางด้วยการบริหารจัดการขยะและมลพิษที่มีต้นกำเนิดบนแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดปริมาณขยะทะเล และปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่นซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์ทะเลและความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล จากผลการประเมินดัชนีคุณภาพมหาสมุทร (Ocean Health Index: OHI) ในปี 2562 ประเทศไทยได้ 66 คะแนน จาก 100 คะแนน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 71 คะแนน และถูกจัดอยู่อันดับที่ 130 จาก 221 เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zones: EEZs) โดยมีตัวชี้วัดที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีคะแนนค่อนข้างต่ำ ได้แก่ การเป็นแหล่งอาหาร (Food Provision) 17 คะแนน และผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ (Natural Products) 44 คะแนน โดยทั้งสองตัวชี้วัดมีความเกี่ยวข้องกับปริมาณการจับปลาที่สอดคล้องกับผลผลิตการประมงสูงสุดที่ยั่งยืน (Maximum sustainable yield: MSY) ตามคุณลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำ และการวัดศักยภาพในการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งตัวชี้วัดเหล่านี้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องทะเลไทยที่ต้องเร่งจัดการให้กลับสู่ความอุดมสมบูรณ์ และข้อมูลจาก UN Global SDG Database ประเมินว่าปริมาณขยะทะเลของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 447,946 ชิ้นต่อตารางกิโลเมตร ในปี 2559 เป็น 804,727 ชิ้นต่อตารางกิโลเมตร ในปี 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 79.65 และมีความเข้มข้นของคลอโรฟิลล์-เอที่ผิดปกติจากการสำรวจระยะไกล (Chlorophyl-a anomaly, remote sensing) อยู่ในระดับที่สูง โดยอยู่ที่ร้อยละ 1.36 ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.57 ในปี 2561 ซึ่งข้อมูลคลอโรฟิลล์-เอดังกล่าวช่วยบ่งชี้สถานการณ์การเกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่น
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องเร่งรัดการดำเนินการด้านการอนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งเพื่อคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศทางทะเลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ในระยะที่ผ่านมาได้มีการประกาศพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองที่ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง รวมเป็นพื้นที่ 15,336 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 4.74 ของพื้นที่ทางทะเลทั้งหมดของประเทศ แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดให้อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 ภายในปี 2563
เป้าหมายย่อย 14.1
ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะในทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี พ.ศ. 2568
เป้าหมายย่อย 14.2
บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี
เป้าหมายย่อย 14.3
ลดและแก้ปัญหาผลกระทบของการเป็นกรดในมหาสมุทร โดยรวมถึงผ่านทางการเพิ่มพูนความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ในทุกระดับ
เป้าหมายย่อย 14.4
ภายในปี พ.ศ. 2563 ให้กำกับการทำการประมงอย่างมีประสิทธิผล และยุติการประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) และแนวปฏิบัติด้านการประมงที่เป็นไปในทางทำลาย และดำเนินการให้เป็นผลตามแผนการบริหารจัดการที่อยู่บนฐานวิทยาศาสตร์ เพื่อจะฟื้นฟูมวลปลา (fish stock) ในเวลาที่สั้นที่สุดที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดให้อยู่ในระดับผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (maximum sustainable yield) ตามคุณลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำเหล่านั้น
เป้าหมายย่อย 14.5
ภายในปี พ.ศ. 2563 อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 โดยให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและภายในประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่
เป้าหมายย่อย 14.6
ภายในปี พ.ศ. 2563 ยับยั้งการอุดหนุนการประมงบางรูปแบบที่มีส่วนทำให้เกิดการประมงเกินขีดจำกัด ขจัดการอุดหนุนที่มีส่วนทำให้เกิดการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และระงับการริเริ่มการอุดหนุนในลักษณะดังกล่าว โดยตระหนักว่าการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดควรเป็นส่วนควบในการเจรจาการอุดหนุนการประมงขององค์การการค้าโลก
เป้าหมายย่อย 14.7
ภายในปี พ.ศ. 2563 ยับยั้งการอุดหนุนการประมงบางรูปแบบที่มีส่วนทำให้เกิดการประมงเกินขีดจำกัด ขจัดการอุดหนุนที่มีส่วนทำให้เกิดการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และระงับการริเริ่มการอุดหนุนในลักษณะดังกล่าว โดยตระหนักว่าการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดควรเป็นส่วนควบในการเจรจาการอุดหนุนการประมงขององค์การการค้าโลก
เป้าหมายย่อย 14.A
เพิ่มความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พัฒนาขีดความสามารถในการวิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเลของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสมุทรศาสตร์ เพื่อจะพัฒนาคุณภาพมหาสมุทรและเพิ่มพูนให้ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็กและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
เป้าหมายย่อย 14.B
จัดให้ชาวประมงพื้นบ้านรายเล็กเข้าถึงทรัพยากรทางทะเลและตลาด
เป้าหมายย่อย 14.C
เพิ่มพูนการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินการให้เกิดผลตามกฎหมายระหว่างประเทศตามที่สะท้อนใน UNCLOS ซึ่งเป็นกรอบทางกฎหมายสำหรับการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน ตามที่ระบุในย่อหน้าที่ 158 ของเอกสาร The Future We Want
Case Study
Case study – SDG 14
แนวคิด SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน แนวคิด SEACOSYSTEM เป็นความร่วมมือในการพัฒนาและฟื้นฟูท้องทะเลไทยระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชุมชนเจ้าของพื้นที่ ในการจัดการกับปัญหาทะเลไทยที่กำลังเข้าสู่ระยะวิกฤติจากปัญหาขยะในทะเล ปะการังฟอกขาว ปะการังเสื่อมโทรม การสูญพันธุ์ของมวลสัตว์น้ำ ตลอดจนผลกระทบต่อการทำประมงพื้นบ้าน เป็นต้น ซึ่งแนวคิด SEACOSYSTEM จะยึดหลักการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืนผ่านการดำเนินโครงการที่หลากหลาย โดยเน้นความสำคัญ 5 ด้าน ตั้งแต่ นโยบายในการพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (SD in Process) โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ชูการทำงาน…. อ่านเพิ่มเติม
Case study - SDG 13
โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) เป็นโครงการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศด้วยความสมัครใจ โดยสามารถนำปริมาณการลดหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านการรับรอง ที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศได้ ตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการพัฒนาโครงการที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) กำหนด…. อ่านเพิ่มเติม