เป้าหมายที่ 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม

เป้าหมายที่ 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม

ภาพจากการประกวดภาพถ่าย “ส่งเสริมยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยพลังภาพถ่ายที่สร้างสรรค์”

            การมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีและมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาสู่สังคมอย่างต่อเนื่องได้กลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมในปัจจุบัน เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่ดี โดยเฉพาะด้านการคมนาคมและขนส่ง จะช่วยทำให้การเดินทางระหว่างประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทำได้ง่ายขึ้น นำไปสู่การแลกเปลี่ยนสินค้าและองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างทั่วถึง ขณะที่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคมมากขึ้น อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน การพัฒนาเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจ   อย่างไรก็ดี การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมนวัตกรรมดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงมิติการกระจายโอกาสการเข้าถึงให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุ   รวมไปถึงการทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างครอบคลุมและเท่าเทียม

            ในระยะที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการพัฒนาและขยายเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ซึ่งสะท้อนในผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน (World Competitiveness Ranking) โดยสถาบัน IMD ในช่วงปี 2559 – 2563 ที่บ่งชี้ว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยด้านโครงสร้างพื้นฐานมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยในปี 2563 ประเทศไทยมีขีดความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในอันดับที่ 44 ดีขึ้นจากอันดับที่ 49 ในปี 2559 โดยเฉพาะในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 26 จาก 63 ประเทศ ในปี 2563 สะท้อนถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมขนส่งทางบก ทางราง และทางอากาศ การขนส่งสินค้า ตลอดจนการขยายระบบโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน โดยในปี 2562 ประเทศไทยมีค่าความหนาแน่นของโครงข่ายถนนอยู่ที่ 1.37 กิโลเมตรต่อตารางกิโลเมตร เพิ่มขึ้นจาก 0.89 กิโลเมตรต่อตารางกิโลเมตร ในปี 2559 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความครอบคลุมของถนนต่อพื้นที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาโครงสร้าง     พื้นฐานในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2559 – 2562 ประเทศไทยมีมูลค่าความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการในด้านโครงสร้างพื้นฐานรวม 2,898.52 ล้านบาท

            ในการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมที่ยั่งยืน พบว่ามีความก้าวหน้าไปมาก โดยประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์ Industrial Transformation Center (ITC) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจให้สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและรองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความตระหนักในการปฏิรูปอุตสาหกรรม รวมไปถึงการพัฒนาสถานประกอบการ และการบ่มเพาะจนได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และยังได้ริเริ่มการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศแล้วในพื้นที่เป้าหมาย 15 จังหวัด 18 พื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีบทบาทในการช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วกว่า 164,473 ตัน CO2 เทียบเท่าในระหว่างปี 2560 – 2562

          นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม โดยสะท้อนได้จากค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม ในประเทศ (GERD/GDP) ระหว่างปี 2559 – 2562 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2562 สัดส่วน GERD/GDP อยู่ที่ร้อยละ 1.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.78 ในปี 2559 เช่นเดียวกับสัดส่วนจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคน ในช่วงปี 2559 – 2561 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 1,264 คนต่อประชากร 1 ล้านคนในปี 2559 เป็น 1,840 คนต่อประชากร 1 ล้านคนในปี 2561

เป้าหมายย่อย 9.1

          พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ยั่งยืนและมีความต้านทานและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและที่ข้ามเขตแดน
เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์

เป้าหมายย่อย 9.2

                ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืนและภายในปี พ.ศ. 2573 ให้เพิ่มส่วนแบ่งของภาคอุตสาหกรรมในการจ้างงานและผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ    โดยให้เป็นไปตามบริบทของประเทศและให้เพิ่มส่วนแบ่งขึ้นเป็น 2 เท่า ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด

เป้าหมายย่อย 9.3

          เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินโดยรวมถึงเครดิตในราคาที่สามารถจ่ายได้ให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมและวิสาหกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งเชื่อมโยงผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าและตลาด

เป้าหมายย่อย 9.4

          ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศภายในปี พ.ศ. 2573

เป้าหมายย่อย 9.5

          เพิ่มพูนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา และให้ภายในปี พ.ศ. 2573
มีการส่งเสริมนวัตกรรมและให้เพิ่มจำนวนผู้ทำงานวิจัยและพัฒนา ต่อประชากร 1 ล้านคน และเพิ่มค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาในภาครัฐและเอกชน

เป้าหมายย่อย 9.A

          อำนวยความสะดวกการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและมีความยืดหยุ่น ในประเทศกำลังพัฒนาผ่านทางการยกระดับการสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยีและด้านวิชาการให้แก่ประเทศในแอฟริกา ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก

เป้าหมายย่อย 9.B

          สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการให้มีสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่นำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์

เป้าหมายย่อย 9.C

          เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและมุ่งจัดให้มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยถ้วนหน้าและในราคาที่สามารถจ่ายได้ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ภายในปี พ.ศ. 2563

Case Study

โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi)

          ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมด้านการพัฒนาและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อยกระดับไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ณ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่
นำร่องสำหรับการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน โดยมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth)
 … อ่านเพิ่มเติม

8-oscfeyh465nw2x5iyq3f1lr10duzzspjr9qf7yevhk

Case study - SDG 13

          โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) เป็นโครงการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศด้วยความสมัครใจ โดยสามารถนำปริมาณการลดหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านการรับรอง ที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศได้ ตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการพัฒนาโครงการที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) กำหนด…. อ่านเพิ่มเติม

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านอื่นๆ