You are currently viewing โครงการบ้านมั่นคง

การเจริญเติบโตที่รวดเร็วของเมืองส่งผลให้เกิดความแออัด ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และชุมชนแออัดที่อยู่กระจัดกระจายในเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลดังนั้น การจัดการด้านที่ดินและที่อยู่อาศัยอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มคนเปราะบางในเมืองจึงกลายเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง

โดยในปี 2546 รัฐบาลได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนคนจนเมืองทั่วประเทศ สร้างความมั่นคงในการครอบครองที่ดิน พัฒนาระบบสาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อมชุมชน และสอดคล้องกับวิถีชีวิตและความสามารถในการจัดการของชุมชน

โครงการบ้านมั่นคงมีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญคือการให้ชุมชนเป็นเจ้าของโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาและจัดการตนเอง โดยมีการรวมกลุ่มจัดทำแผนงานโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและชุมชน บริหารจัดการโครงการและงบประมาณ และพัฒนาศักยภาพชุมชนในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การออมทรัพย์ การบริหารจัดการองค์กร การบริหารจัดการงานก่อสร้าง และการจัดการที่ดิน เป็นต้น โดยมีภาครัฐและหน่วยงานท้องถิ่นให้การสนับสนุน

โครงการบ้านมั่นคงยังมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและการไม่มีที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นระบบโดยครอบคลุมชุมชนทั้งหมดของเมือง มีการสำรวจข้อมูลความเดือดร้อน และใช้ข้อมูลเพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหาเชิงรุก จัดทำแผน แนวทาง และรูปแบบการแก้ไขปัญหาที่มีความหลากหลายตามสภาพปัญหาของชุมชน และแผนการพัฒนาเมือง รวมทั้งยังเน้นให้เกิดกระบวนการทำงานและจัดการร่วมกันระหว่างชุมชนและท้องถิ่น โดยมีกลไกการทำงานร่วมกันเป็นคณะกรรมการเมือง ซึ่งประกอบไปด้วย เทศบาล ชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น ร่วมกันวางแผนและพัฒนาชุมชนแออัด

ในรายงานประจำปี 2562 ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ระบุว่าการดำเนินงานโครงการบ้านมั่นคงในปีงบประมาณ 2562 ได้สนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัยของ 2,433 ครัวเรือน ในพื้นที่เมือง รวมทั้งอนุมัติสินเชื่อสำหรับองค์กรชุมชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านมั่นคงไป 24 องค์กร วงเงิน 389.92 ล้านบาท มีผู้ได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 1,269 ครัวเรือน ใน 58 ชุมชน โดยผลการดำเนินงานสินเชื่อสะสมของสถาบันฯ ตั้งแต่เริ่มดำเนินงานจนถึงปีงบประมาณ 2562 มีสินเชื่ออนุมัติสะสม 10,435.41 ล้านบาท แก่ 973 องค์กร ครอบคลุม 405,370 ครัวเรือน ใน 6,229 ชุมชน

ที่มา

https://ref.codi.or.th/attachments/article/28/Project_Guide%20_111158.pdf

ที่มาภาพประกอบ: สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)