ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมด้านการพัฒนาและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
เพื่อยกระดับไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ณ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่นำร่องสำหรับการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน โดยมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) การขับเคลื่อนโครงการ EEC จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมและเพื่อเชื่อมโยงระบบการค้าและการขนส่งสมัยใหม่ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้ดำเนินโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of innovation : EECi)
ณ บริเวณวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการ EEC โดยมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสม ส่งเสริมให้เกิดการการทำวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย รวมถึงชุมชนในพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดการนำผลการวิจัยไปต่อยอดสู่การใช้งานจริง และสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศด้วยการยกระดับอุตสาหกรรมเดิมและสร้างอุตสาหกรรมใหม่ สร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมในพื้นที่ควบคู่ไปกับการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
โครงการ EECi ประกอบไปด้วยเมืองนวัตกรรมขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประกอบด้วย เมืองนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ (Bio polis) เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARI Polis) เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) และเมืองนวัตกรรมการบินและอวกาศ (Space Innopolis) โดยเมืองนวัตกรรมทุกแห่งจะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐ เอกชน ชุมชนในพื้นที่ และหน่วยงานพัฒนาเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนา EEC ผ่านการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม อาทิ โรงงานต้นแบบ โรงงานสาธิต พื้นที่ทดลองผลิต สนามทดลอง ศูนย์กลางการวิเคราะห์ทดสอบ และเครื่องกำเนิดแสงซินโครตอน
ภาคเอกชนสามารถใช้บริการหรือเช่าพื้นที่ระยะยาวเพื่อทำนวัตกรรมของบริษัทภายในพื้นที่โครงการ EECi ได้โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนจากภาครัฐ อาทิ การให้สิทธิเช่าที่ดินระยะยาวสำหรับจัดตั้งศูนย์วิจัยและเช่าพื้นที่ในอาคารเพื่อการวิจัยและพัฒนา การยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 13 ปี เก็บภาษีบุคคลธรรมดาคงที่ 17% คงที่สำหรับผู้เชี่ยวชาญ ยกเว้นอากรนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการวิจัยและพัฒนา วีซ่าทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ และพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบในการทำนวัตกรรม (Regulatory Sandbox) และเป็นแหล่งรวมนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญ
อ้างอิง : https://www.eeci.or.th/pdfs/EECi_Fact-Sheets_Th_20200713.pdf
ที่มารูปภาพประกอบ: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ