การได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยแรกเกิด ถือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะผลส่งต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว เนื่องจากการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งหมายรวมถึงการมีร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง มีความพร้อมทางด้านจิตใจ และสติปัญญา สหประชาชาติจึงกำหนดให้ประเด็นการเข้าถึงสารอาหารที่เพียงพอในกลุ่มหญิงวัยรุ่นตั้งครรภ์และให้นมบุตร รวมถึงผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งในเป้าประสงค์ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2579
รัฐบาลโดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นดังกล่าว จึงได้เริ่มดำเนินโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิตในปีงบประมาณ 2561 เพื่อสร้างความความรู้ความเข้าใจในการส่งเสริมสุขภาพสตรีและเด็กปฐมวัย เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว (ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 2 ปี) เป็นช่วงที่โครงสร้างสมองมีการพัฒนาสูงสุดทั้งการสร้างเซลล์สมองและการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์สมอง ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้จดจำ นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงที่มีการเจริญเติบโตด้านร่างกายอย่างรวดเร็ว
ผลการศึกษาวิจัยระบุว่าในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิตมีความสำคัญมากถึง 80% ต่อการกำหนดภาวะสุขภาพไปตลอดชีวิต ดังนั้นการลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าวของชีวิตจึงมีความคุ้มค่าที่สุด และจะให้ผลตอบแทนกลับมา 18 – 50 เท่าของเงินที่ลงทุนไป
ที่ผ่านมาโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิตได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านโภชนาการของหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี ไปยังสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง ขณะเดียวกันได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานแก่เจ้าหน้าที่และผู้รับผิดชอบงานด้านสตรีและเด็กปฐมวัยทั่วประเทศเพื่อนำไปถ่ายทอดความรู้ที่ถูกต้องไปยังกลุ่มเป้าหมายต่อไป ทั้งนี้ โครงการเน้นการ ดำเนินการโดยสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยให้ท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมลงทุนในการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ
ผลจากการขับเคลื่อนโครงการมาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้สถานการณ์ด้านโภชนาการและสุขภาพของแม่และเด็กในภาพรวมของประเทศดีขึ้น โดยเห็นได้จากสัดส่วนของหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีนในปี 2561 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 70.58 % ของจำนวนประชากรหญิงที่ตั้งครรภ์ทั่วประเทศ จากเดิมในปี 2557 อยู่ที่ 56.39 % สอดคล้องกับข้อมูลสภาวะโลหิตจางของหญิงตั้งครรภ์ที่ลดลง โดยในปีงบประมาณ 2561 อยู่ที่ 16.06 % ของจำนวนประชากรหญิงที่ตั้งครรภ์ทั่วประเทศ ลดลงจากปีงบประมาณ 2557 ที่ 17.44%
ขณะที่สัดส่วนของเด็กอายุ 0 – 2 ปีที่สูงดีสมส่วนในปีงบประมาณ 2562 อยู่ที่ 59.1 % ของจำนวนประชากรเด็กอายุ 0 – 2 ปีทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2559 ที่ 57.2 %
ที่มารูปภาพประกอบ : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข