ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อการยกระดับความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติทั่วโลก เนื่องจากเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการผลิตสินค้า การจ้างงาน และกระตุ้นให้เกิดการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสู่สังคม อย่างไรก็ดี กระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมได้ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพของมนุษย์และสัตว์เป็นจำนวนมาก 

          สหประชาชาติจึงกำหนดให้ประเด็นการปรับปรุงอุตสาหกรรมให้เกิดความยั่งยืนเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี พ.ศ. 2579 โดยมุ่งเน้นให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและพัฒนาให้เกิดกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่การดำเนินการจะต้องคำนึงถึงเงื่อนไขด้านขีดความสามารถของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกัน

          รัฐบาลไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เริ่มนำแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยั่งยืนมาเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยเพื่อให้การผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยผ่านโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ในปี 2554 และยังคงมีการดำเนินการอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
โดยโครงการฯ มุ่งส่งเสริมให้สถานประกอบการอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรม และสถานประกอบการเหมืองแร่ของประเทศไทย เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังให้ความช่วยเหลือและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

          กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 รายงานว่า มีจำนวนโรงงาน/สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการซึ่งได้รับใบรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวไปแล้วกว่า 39,470 ใบรับรอง โดยแบ่งเป็น 5 ระดับ ตามระดับของการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมสีเขียวได้ดังนี้ ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) จำนวน 20,852 ใบรับรอง ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) จำนวน 9,981 ใบรับรอง ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green  System) จำนวน 8,072 ใบรับรอง ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) จำนวน 493 ใบรับรอง ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green  Network) จำนวน 72 ใบรับรอง ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่กรมโรงงานกำหนดไว้ 2,000 ใบรับรอง/ปี

          ผลจากการดำเนินการโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวมาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ช่วยในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย ในระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2560 – 2562)    ไปแล้วกว่า 164,473 ตัน CO2 เทียบเท่าต่อปี โดยในปี 2560 สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จำนวน 12,528 ตัน CO2 เทียบเท่าต่อปี ปี 2561 จำนวน 64,357 ตัน CO2 เทียบเท่าต่อปี และปี 2562 จำนวน 87,588 ตัน CO2 เทียบเท่าต่อปี

          นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังระบุอีกว่าการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสียเข้าสู่ระบบการจัดการอย่างถูกต้องมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีปริมาณกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการจัดการทั้งหมด 32.95 ล้านตัน ปี 2561 มีปริมาณ 22.02 ล้านตัน ปี 2562 มีปริมาณ 17.25 ล้านตัน และ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ปี 2563 มีปริมาณกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบ 9.38 ล้านตัน สำหรับกากอุตสาหกรรมที่เป็นของเสียอันตรายได้รับการจัดการในปี 2561 – ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 เป็น 1.2 ล้านตัน/ปี 1.33 ล้านตัน/ปี และ 0.71 ล้านตัน/ปี ตามลำดับ

ที่มา : http://greenindustry.diw.go.th/index.php/th/