You are currently viewing โครงการ 1 ไร่ 1 แสน

ปัญหาอันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้นั้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว ยังส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรฐานราก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น

โครงการ 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท เป็นโครงการริเริ่มของภาคเอกชนโดยหอการค้าไทย ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่อาสาเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยการประยุกต์และปรับใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งสามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

หลักการเบื้องต้นของโครงการ คือ การเพิ่มรายได้ การลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิตและเรื่องราวของสินค้า และการสร้างความยั่งยืน โดยโครงการนี้จะเป็นการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่ ให้ได้ประโยชน์และประสิทธิภาพมากที่สุดตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองผ่านการส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสาน ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี และสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการทำการเกษตร โดยดำเนินการผ่าน 3 วิชา ได้แก่ ด้านกสิกรรม คือ ปลูกข้าว ผักสวนครัว พืชไร่ ไม้ผล ด้านปศุสัตว์ เลี้ยงเป็ด ไก่ และด้านประมง เลี้ยงปลา กบ หอย กุ้ง ปู เป็นต้น โดยแบ่งพื้นที่เพาะปลูกออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ คันนาปลูกพืชผักสวนครัว ร่องน้ำสำหรับทำการประมง พื้นที่ปลูกข้าว และพื้นที่อยู่อาศัยในสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10 เพื่อให้ระบบนิเวศเกื้อกูลต่อกัน

โครงการนี้มีพื้นที่นำร่องอยู่ที่บ้านหนองแต้ บ้านบ่อ และบ้านกุดเชียงมี ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างเต็มรูปแบบมีรายได้เฉลี่ยถึง 150,000-200,000 บาท ขณะเดียวกันต้นทุนของการทำนา 1 ไร่จากเดิม 10,000 บาท ลดลงหลายเท่าตัวเหลือเฉลี่ยเพียง 2,292 บาทต่อไร่ ทำให้จังหวัดขอนแก่นได้กลายเป็นแหล่งกรณีศึกษาสำหรับเกษตรกรจากทั่วประเทศที่ต้องการเยี่ยมชมแปลงต้นแบบและต้องการศึกษาข้อมูลพื้นฐานการทำนาที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน โครงการ 1 ไร่ 1 แสน ได้ขยายพื้นที่ดำเนินการไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย อาทิ นนทบุรี ปทุมธานี ตรัง และยะลา เป็นต้น

ที่มาภาพประกอบ: กองยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สศช.