You are currently viewing “โรงเรียนไม้ไผ่” … มีชัยพัฒนา เรียนรู้สู่ความยั่งยืน

          โรงเรียนมีชัยพัฒนา หรือโรงเรียนไม้ไผ่ หรือที่ชาวต่างชาติรู้จักกันในชื่อ Bamboo School ตั้งอยู่ที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโรงเรียนทางเลือก ในเครือของมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ และสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เปิดสอนตั้งแต่ชั้น ม.1 ถึง ม.6 โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็นคนดี มีวินัย มีความซื่อสัตย์ มีจิตสาธารณะ สามารถคิดนอกกรอบและค้นคว้าหาคำตอบ พร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการการเกษตรและธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) และเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนในอนาคต

          โรงเรียนมีชัยพัฒนามีเจตนาที่จะสร้างนักเรียนให้เป็น “คนดี” มีความซื่อสัตย์ มีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ รักความเสมอภาค มีความสามารถในการบริหารจัดการ รู้จักการแบ่งปัน และช่วยเหลือสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยเหลือผู้ปกครองและชาวบ้านในชุมชนรอบโรงเรียนให้มีคุณภาพชีวิตและรายได้ที่ดีขึ้น

          สิ่งที่เป็นจุดเด่นที่สุดของโรงเรียนไม้ไผ่ คือ นักเรียนไม่ได้จ่ายค่าเทอมด้วยเงิน แต่จ่ายด้วยการทำความดี 400 ชั่วโมงและปลูกต้นไม้ 400 ต้น ในแต่ละปีการศึกษา นอกจากเรียนหนังสือในห้องเรียน โรงเรียนไม้ไผ่เน้นการทำกิจกรรมร่วมกันและการเรียนรู้นอกห้องเรียน ให้นักเรียนได้ทำการเกษตรร่วมกัน ทำธุรกิจร่วมกัน ทำความสะอาดที่พัก ห้องเรียน และสถานที่ส่วนรวมร่วมกัน รวมไปถึงการออกไปในชุมชนเพื่อเรียนรู้นอกห้องเรียนและช่วยเหลือผู้อื่น

          การส่งเสริมภาวะผู้นำเป็นอีกหนึ่งในภารกิจหลักของโรงเรียนไม้ไผ่ โดยให้นักเรียนรู้จักที่จะดูแลตนเองและปกครองโรงเรียนด้วยกันเองได้ นักเรียนเป็นผู้ที่สัมภาษณ์และคัดเลือกคุณครู รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการโรงเรียน และคณะมนตรีโรงเรียน รวมไปถึงคณะกรรมการตรวจสอบป้องกันคอรัปชั่น และคณะกรรมการจัดซื้อต่าง ๆ

          ความสำเร็จของโรงเรียนมีชัยพัฒนา มิได้มีอยู่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่องค์กรระหว่างประเทศอย่าง กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Population Fund (UNFPA) ได้กล่าวยกย่อง “โรงเรียนมีชัยพัฒนา” ว่าเป็นโรงเรียนที่มีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดย UNPF ระบุถึงผลงาน ความก้าวหน้า และปรัชญาของโรงเรียนแห่งนี้ในการให้ความสำคัญกับ “การลดความเหลื่อมล้ำ” ด้านต่างๆ รวมถึงด้านเพศ ด้านสังคมและเศรษฐกิจ พร้อมทั้งการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และบริการอื่นๆ เพื่อให้ทุกคน โดยเฉพาะสตรีและเด็ก มีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการพัฒนาชีวิตของตนเอง