ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศไทยกับสหประชาชาติมีมานานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหประชาชาติ United Nations Partnership Framework Thailand (UNPAF) 2017-2021 ที่ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างหน่วยงานไทยและหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาประเทศให้มีความยั่งยืน บนฐานความร่วมมือของทุกภาคส่วน อย่างไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สำหรับในช่วงปี 2565 – 2569 นั้น สหประชาชาติและรัฐบาลไทยได้เห็นชอบและลงนามร่วมกันในกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Sustainable Development Cooperation Framework – UNSDCF) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่ต่อเนื่องจาก UNPAF โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศ ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยได้กำหนดผลลัพธ์เชิงยุทธศาสตร์ไว้ 3 ประการ ได้แก่
- ผลลัพธ์ที่ 1 การพลิกโฉมประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจที่ครอบคลุม (Inclusive Economy) บนฐานการเร่งรัดการพัฒนาสีเขียว มีภูมิคุ้มกันวิกฤตสูง ปล่อยคาร์บอนต่ำ และมีความยั่งยืน โดยสหประชาชาติจะมุ่งส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืนบนฐานของเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) สร้างเสริมศักยภาพในการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และขยายขีดความสามารถในการปรับตัวและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งจะมาเกื้อหนุนร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในมิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย (หมุดหมายที่ 1 2 3) มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม (หมุดหมายที่ 7 8 9) มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (หมุดหมายที่ 10 11) และมิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ (หมุดหมายที่ 12 13)
ผลลัพธ์ที่ 2 การพัฒนาทุนมนุษย์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาทางสังคมที่ผู้คนได้ประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึง โดยอาศัยการสร้างความเข้มแข็งเชิงสถาบัน ภาคีความร่วมมือ และการเสริมพลังประชาชน ซึ่งจะเน้นเรื่องการปรับปรุงการเข้าถึงบริการสาธารณะของประชาชนให้มีคุณภาพและตอบสนองต่อความต้องการ ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีพ พัฒนาทักษะและการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ดิจิทัลของประชาชน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาทางสุขภาพและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ ผลลัพธ์ดังกล่าวจะช่วยเกื้อหนุนร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในมิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ (หมุดหมายที่ 12 13) มิติภาคการผลิตและบริการ (หมุดหมายที่ 1 4 6) มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม (หมุดหมายที่ 7 8 9) และมิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (หมุดหมายที่ ๑๐)
ผลลัพธ์ที่ 3 ประชาชนในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ โดยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมการมีโอกาสที่เท่าเทียม สนับสนุนการเสริมพลังทางสังคมแก่สตรี รวมทั้งสนับสนุนนวัตกรรมทางสังคมและการเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนส่งเสริมธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรม ซึ่งจะช่วยเกื้อหนุนร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในมิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม (หมุดหมายที่ 7 8 9) และมิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ (หมุดหมายที่ 12 13)
สามารถอ่านรายงานฉบับเต็ม ได้ที่