You are currently viewing Chula Zero Waste

Chula Zero Waste หรือโครงการพัฒนาต้นแบบการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายอย่างยั่งยืนในจุฬาลงกรณ์ เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม สำนักบริหารระบบกายภาพ และเครือข่ายคณาจารย์และนิสิต เพื่อพัฒนาระบบการจัดการขยะอย่างครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่การบรรจุหลักสูตรการคัดแยกและจัดการขยะในระบบการศึกษา กิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ และการปฏิบัติจริงทั้งในบริเวณมหาวิทยาลัย และพื้นที่ภาคีเครือข่าย บนพื้นฐานหลักการ 3R (Reduce, Reuse, Recycle)

         เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม โครงการ Chula Zero Waste ได้จัดทำแผนปฏิบัติการการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายอย่างยั่งยืนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2560 – 2564) ซึ่งประกอบไปด้วย 6 แผนงานและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แผนงานที่ 1 พัฒนากลไกการทำงานและจัดทำข้อมูลพื้นฐาน โดยมุ่งหมายให้เกิดแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ จัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านขยะมูลฝอยและขยะอันตราย ตลอดจนการสร้างความเข้าใจในพฤติกรรม ความรู้ ทัศนคติเรื่องขยะของบุคลากรในจุฬาฯ แผนงานที่ 2 ลดการเกิดขยะ ณ แหล่งกำเนิด โดยผลักดันให้ลดการใช้ถุงพลาสติก ส่งเสริมการใช้แก้วน้ำ และขวดน้ำส่วนตัวเพื่อลดขยะพลาสติก แผนงานที่ 3 พัฒนาและปรับปรุงระบบการคัดแยกขยะ ณ แหล่งกำเนิด โดยเน้นปรับปรุงระบบการคัดแยกขยะที่เหมาะสมกับพื้นที่ (โรงอาหาร, ในอาคาร, ทางเดิน) และการรณรงค์แยกขยะในสำนักงาน (Green Office) แผนงานที่ 4 ปรับปรุงระบบเก็บรวบรวมขยะภายในมหาวิทยาลัย สนับสนุนการปรับปรุงสถานีเก็บกักขยะมูลฝอย จุดพักขยะมูลฝอยให้ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย แผนงานที่ 5 ปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการจัดการขยะอินทรีย์ โดยยกระดับระบบการเก็บรวบรวมขยะเศษอาหารเพื่อส่งเข้าระบบการผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) และแผนงานที่ 6 พัฒนาเนื้อหาและสื่อการเรียนการสอนด้านการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดทำเนื้อหาการสอนด้านการจัดการขยะอย่างยั่งยืนสำหรับเด็ก และเยาวชนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัย

         ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 พบว่ามหาวิทยาลัยสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกชนิดหูหิ้วลง 80% ในทุกร้านค้า เลิกใช้แก้วพลาสติก 100% ในโรงอาหาร โดยเปลี่ยนเป็นแก้วที่ใช้ซ้ำได้ หรือแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ (zero-waste cup) ลดปริมาณการใช้หลอดพลาสติก ช้อน-ส้อม พลาสติกลง 20% ผ่านมาตรการ “ขอก่อน ค่อยให้” (on request) และ ลด-งด แจกในการประชุมและการจัดงานพิเศษต่างๆด้วย” ตลอดจนการกระตุ้นและผลักดันให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพการลดและแยกขยะของคณะต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

อ้างอิงข้อมูลและที่มารูปภาพ: http://www.chulazerowaste.chula.ac.th/about-us/ และ https://www.salika.co/2019/07/09/chula-zero-waste-model/)