You are currently viewing ChulaMUN จัดงานเสวนา “AI-Powered Economic Security and Green Transition for Sustainable Future” ในงาน SX2024 ส่งเสริมความเข้าใจในการใช้ AI เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ชมรมการประชุมสหประชาชาติจำลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ChulaMUN) ร่วมกับ C ASEAN จัดงานเสวนาหัวข้อ “AI-Powered Economic Security and Green Transition for Sustainable Future” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงาน Sustainability Expo 2024 (SX2024) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมี ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ดร.แววไพลิน พันธุ์ภักดี อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมอภิปราย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทและผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมี นายสเตฟาน ควิ้นท นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ในงานอภิปรายดังกล่าว ดร.ธัชไท ได้อภิปรายและนำเสนอข้อมูลที่สำคัญของ AI โดยมีประเด็นสรุปได้ดังนี้  

  • AI มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคมหนึ่ง ๆ ซึ่งมีผลทั้งในด้านบวกและด้านลบ โดยในเชิงบวก AI จะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำให้เกิดผลลัพธ์การผลิตที่มีความคุ้มค่า (Productivity) ส่วนในเชิงลบ AI อาจจะเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดปัญหาช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น
  • แม้ว่า AI อาจเข้ามามีบทบาทแทนที่แรงงานทักษะต่ำ โดยเฉพาะงานที่มีลักษณะทำแบบเดิม แต่ก็ยังมีงานบางประเภทที่ AI ไม่สามารถแทนที่ได้ อาทิ งานที่ต้องใช้ความคิดหรืองานที่ต้องใช้ทักษะสูง ดังนั้นการพัฒนาทักษะแรงงานให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ก็จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจแทนที่จะส่งผลกระทบต่อแรงงานที่มีทักษะต่ำ
  • เนื่องจากการพัฒนา AI ต้องการพลังงานจำนวนมาก ทางเลือกที่สำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือการเลือกใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งในอนาคตก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมีการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปัจจุบันไปอีกเท่าตัว แต่ AI ก็จะมีการพัฒนาศักยภาพที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงควรส่งเสริมให้มีการนำ AI มาใช้กับการวิเคราะห์และพัฒนาให้มีการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนในทุกภาคส่วน

การอภิปรายดังกล่าวเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมความเข้าใจและสร้างความตระหนักรู้ในเรื่อง AI
อีกทั้งเป็นการสร้างอนาคตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่หลากหลาย
และมีความก้าวหน้ามากขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงแบบพลวัตของเทคโนโลยี
หรือเกิดการสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ๆ รวมถึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อเป็นการลดผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมให้น้อยที่สุด
จากการใช้งาน AI   

กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ