เกี่ยวกับ SDGs – เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ

เป้าหมายที่ 10 : ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ

ประเทศไทยเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ เช่น ด้านรายได้ ความมั่งคั่ง โอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ โครงสร้างพื้นฐาน แหล่งเงินทุนและทรัพยากรที่จำเป็น รวมถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ ความเหลื่อมล้ำ จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจาก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างกลุ่มคนในสังคมมากขึ้น สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยในช่วงปี 2559-2562 ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำของรายได้ รายได้ต่อหัวของกลุ่มประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุดเพิ่มขึ้นทำให้ช่องว่างรายได้ลดลง อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สิน ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากยังไม่มีการปรับปรุงระบบภาษีอย่างเบ็ดเสร็จเพื่อแก้ปัญหานี้ ภาครัฐได้ดำเนินโครงการและสวัสดิการสังคม เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด – 19 เพื่อเพิ่มโอกาสความเท่าเทียมในสังคม

ดาวน์โหลดเอกสารรายงานความคืบหน้า
ดาวน์โหลด

เป้าหมายย่อย 10.1

บรรลุการเติบโตของรายได้ของกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด อย่างก้าวหน้าและยั่งยืน โดยให้มีอัตราเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ภายในปี 2573

เป้าหมายย่อย 10.2

เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความพิการ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจ ภายในปี 2573

เป้าหมายย่อย 10.3

 สร้างหลักประกันโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ โดยขจัดกฎหมาย นโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสม

เป้าหมายย่อย 10.4

 นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า

เป้าหมายย่อย 10.5

ปรับปรุงกฎระเบียบและการติดตามตรวจสอบตลาดการเงินและสถาบันการเงินของโลก และเสริมความแข็งแกร่งในการดำเนินการตามกฎระเบียบดังกล่าว

เป้าหมายย่อย 10.6

สร้างหลักประกันให้ประเทศกำลังพัฒนามีตัวแทนและเสียงในการตัดสินใจในสถาบันการเงินและเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้สถาบันเหล่านี้มีประสิทธิผล น่าเชื่อถือ มีความรับผิดชอบ และชอบธรรมมากขึ้น

เป้าหมายย่อย 10.7

อำนวยความสะดวกในการโยกย้ายถิ่นฐานและเคลื่อนย้ายของคนให้เป็นระเบียบ ปลอดภัย ปกติ และมีความรับผิดชอบ โดยดำเนินงานตามนโยบายด้านการอพยพที่มีการวางแผนและจัดการที่ดี

เป้าหมายย่อย 10.A

ปฏิบัติตามหลักการปฏิบัติอย่างเป็นพิเศษและแตกต่าง (special and differential treatment: S&D) สำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ให้สอดคล้องกับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก

เป้าหมายย่อย 10.B

สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) และการลงทุนจากต่างประเทศไปยังรัฐที่มีความจำเป็นมากที่สุด โดยเฉพาะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศแถบแอฟริกา รัฐกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก และประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล โดยให้สอดคล้องกับแผนและแผนงานของประเทศเหล่านั้น

เป้าหมายย่อย 10.C

ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมของการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานย้ายถิ่นให้ต่ำกว่าร้อยละ 3 และขจัดการชำระเงินระหว่างประเทศที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าร้อยละ 5 ภายในปี 2573

ดูเพิ่มเติม

SDGs ด้านอื่น ๆ


Case Study