เป้าหมายที่ 1
ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่
เป้าหมายย่อยที่ 1.2
ภายในปี พ.ศ. 2573 ลดสัดส่วน ชาย หญิง และเด็กในทุกช่วงวัย ที่อยู่ ภายใต้ความยากจนในทุกมิติตาม นิยามของแต่ละประเทศ ให้ลดลง อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
บ้านชากไทย ตั้งอยู่ที่ อำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี เป็นหนึ่งในต้นแบบการบริหารจัดการหนี้สินภายในชุมชน เพื่อตอบสนองต่อนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งมุ่งเน้นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากชุมชน ผ่านการบริหารจัดการเงินทุนที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด
เดิมทีบ้านชากไทยมีกองทุนอยู่หลากหลายรูปแบบ มีแนวคิดในการจัดตั้ง การรวมกลุ่ม ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการภายในกองทุนที่แตกต่างกันไป โดยกองทุนที่ดำเนินกิจการเพื่อแสวงหาผลกำไรจะเน้นการปล่อยกู้ให้กับสมาชิก ซึ่งปัญหาที่ตามมาในภายหลังคือ การกำหนดเงื่อนไขและระเวลาในการชำระหนี้ของแต่ละกองทุนไม่ตรงกัน เปิดโอกาสให้คนในชุมชนกู้ยืมได้หลายกองทุน และอัตราการปล่อยกู้ที่สูงทำให้คนที่กู้เงินจากหลายกองทุนไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ทัน เกิดการกู้ยืมจากกองทุนหนึ่งเพื่อไปชำระหนี้อีกกองทุน เกิดเป็นหนี้หมุนเวียน หนี้ซ้ำซ้อนไม่สิ้นสุดและมีแต่จะเพิ่มพูนขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น และให้แต่ละกลุ่มกองทุนได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ภายใต้การทำงานที่เชื่อมโยงและเกื้อกูลกัน จึงได้เกิดแนวคิดในการจัดระบบกองทุนทั้งหลายในรูปแบบ การบูรณาการกองทุน ภายใต้ชื่อ “ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านชากไทย” ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มกองทุนในชุมชนจำนวน 13 กลุ่ม มุ่งเน้นการบริหารจัดการกองทุนให้มีความเป็นเอกภาพ ลดปัญหาการเป็นหนี้ของคนในชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการหนี้ของคนในชุมชนให้เป็น 1 ครัวเรือน 1 สัญญาในที่สุด
การบริหารจัดหนี้ไปสู่ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา ของศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านชากไทย ไม่ใช้วิธีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้เท่ากัน หรือปรับระยะเวลาการกู้ยืมและการชำระคืนของแต่ละกองทุนให้พร้อมกัน แต่ใช้วิธีการออกระเบียบศูนย์จัดการกองทุนชุมชนในเรื่องการบริหารจัดการหนี้ ภายใต้แนวคิดขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ซึ่งไม่ขัดต่อระเบียบและข้อบังคับของแต่ละกองทุนที่เป็นสมาชิกอยู่ โดยใช้ “แพ็คเกจ 3 5 7” คือ การแบ่งระยะเวลาการชำระหนี้เป็น 3 ปี 5 ปี และ 7 ปี โดยครัวเรือนที่เข้าร่วม 1 ครัวเรือน 1 สัญญา สามารถเลือกวิธีการชำระคืนหนี้ที่เหมาะสมกับตนเอง และให้กลุ่มหรือองค์กรติดตามสนับสนุนครัวเรือนที่เข้าสู่กระบวนการให้สามารถบริหารจัดการการเงินของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา จะช่วยลดปัญหาหนี้ซ้ำซ้อน หรือหนี้หมุนเวียนที่เกิด จากการกู้ยืมเงินจากกองทุนหนึ่งมาใช้อีกกองทุนหนึ่ง อันจะนำไปสู่หนี้เสียในท้ายที่สุด ทั้งนี้ การนำระบบการจัดการหนี้ดังกล่าวมาใช้จะช่วยพัฒนาคนในชุมชนให้เกิดความแข็งแรง สร้างภูมิต้านทานหนี้ สร้างมูลค่าจากทุนที่ตนกู้มาให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อไม่เกิดหนี้ใหม่ ลดหนี้เก่าจนนำไปสู่การไร้หนี้ มีเครื่องมือในการบริหารเงิน ก็จะเกิดการต่อยอด ทั้งคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ นำไปสู่สังคมที่พัฒนาต่อไป
ที่มา:
ที่มาภาพประกอบ:
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี
แหล่งข้อมูลออนไลน์ สืบค้นเมื่อ วันที่ 24 กรกฎาคม 2563