เมื่อวันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2566 เวลา 15.30 น. นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานในการประชุมหารือทวิภาคีกับสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) พร้อมด้วย นางมามิ มิซุโทริ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ ด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เพื่อหารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Disaster Risk Reduction) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) และความพร้อมของเมืองในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ (Urban Resilience) ณ ห้องประชุม เดช สนิทวงศ์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ในการประชุมหารือทวิภาคีครั้งนี้ ได้มีการหารือเกี่ยวกับการเสริมสร้างความพร้อมของประเทศไทยทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ ในการรับมือต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาพอากาศที่รุนแรง ซึ่งได้บรรจุแนวทางการดำเนินงานไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ภายใต้หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา สื่อสารมวลชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันภายใต้กรอบปฏิญญาเซนไดเรื่องการลดภาวะเสี่ยงต่อภัยพิบัติ 2558-2573 (Sendai Framework For Disaster Risk Reduction 2015-2030) ทั้งนี้ ผู้แทนพิเศษฯ ได้เสนอให้ประเทศไทยพิจารณาการส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ SMEs และภาคเกษตรกรรม ให้เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะส่งเสริมความพร้อมรับมือเพื่อป้องกันการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติในระดับพื้นที่ ประกอบกับการใช้ ดัชนีชี้วัดความสามารถในการฟื้นตัวจากภัยพิบัติของเมืองต่าง ๆ (Disaster Resilience Scorecard for Cities) อันประกอบด้วยดัชนีชี้วัดด้านต่าง ๆ จากข้อมูลในระดับพื้นที่ อาทิ การฟื้นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดูแลสุขภาพ คนพิการ และความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการติดตามและประเมินสถานการณ์ รวมถึงการวางแผนป้องกันภัยพิบัติ ทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์
โดยการขับเคลื่อนประเด็นความร่วมมือดังกล่าว มีความสอดคล้องและส่งเสริมการดำเนินงานตามกรอบการพัฒนาประเทศของไทย ซึ่ง สศช. และ UNDRR จะประสานงานอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับความร่วมมือในระยะต่อไป โดยเน้นการบูรณาการแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และเครื่องมือดัชนีชี้วัดความสามารถในการฟื้นตัวจากภัยพิบัติของเมือง ไปสู่การดำเนินการจริงในระดับพื้นที่และตำบล เพื่อการขยายผลสู่การพัฒนากลไกเชิงนโยบายและระบบงบประมาณที่จะสนับสนุนการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือต่อความเสี่ยงจากภัยพิบัติและภูมิอากาศในอนาคต พร้อมทั้งนำไปสู่การยกระดับความสามารถของประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระดับภูมิภาคต่อไป
ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
ภาพ : กวินนา แสยงบาป