You are currently viewing Thailand’s SDG Review: The Series EP.3

สถานการณ์ความยากจนของไทย
ใกล้บรรลุเป้าหมาย
SDGs มากหรือน้อยแค่ไหน

ความยากจนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์และคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การยุติความยากจนจึงเป็นวาระการพัฒนาหลักที่สหประชาชาติและประเทศไทยให้ความสำคัญและดำเนินการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตและความอยู่ดีมีสุขของประชาชนอย่างครอบคลุมในทุกมิติ โดยมุ่งเน้นการยุติความยากจนในประชาชนกลุ่มเปราะบางเพื่อให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรและบริการขั้นพื้นฐาน มีความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติและมีภูมิคุ้มกันในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ในช่วงปี 2559 – 2562 สถานการณ์ความยากจนความยากจนของประเทศไทยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยสัดส่วนคนจนลดลงจากร้อยละ 8.61 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 6.24 ในปี 2562 ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการมาตรการของภาครัฐในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 สัดส่วนคนจนที่พิจารณาจากเส้นความยากจนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.24 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 6.84 ในปี 2563 อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่กระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนยากจนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบางอย่างมีนัยสำคัญ

ในด้านการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน อาทิ ไฟฟ้าภายในบ้าน น้ำประปาภายในบ้าน โทรศัพท์เคลื่อนที่ ในปี 2563 ครัวเรือนยากจนร้อยละ 99.01 สามารถเข้าถึงไฟฟ้าภายในบ้าน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 98.80 ในปี 2562 รวมทั้งการเข้าถึงน้ำประปาภายในบ้าน (ร้อยละ 89.20) และโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ร้อยละ 66.77) นอกจากนี้ยังพบว่า ครัวเรือนยากจนมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตร้อยละ 45.37 และมีการเข้าถึง คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 0.71 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 0.80 ในปี 2563 แต่ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับครัวเรือนไม่ยากจน

ที่ผ่านมาภาครัฐได้ขับเคลื่อนนโยบายที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือกลุ่มคนยากจน กลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 โดยมีโครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการเยียวยาเกษตรกร โครงการเยียวยากลุ่มเปราะบาง โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง และโครงการไทยมีงานทำ

นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ขึ้นในปี 2563 เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในทุกมิติลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาคนทุกช่วงวัย โดยการใช้ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) ซึ่งเป็นระบบข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐที่สามารถระบุสภาพปัญหาและความต้องการที่จำแนกได้ตามพื้นที่ และตัวบุคคล อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

แม้ไทยจะมีความคืบหน้าในเรื่องการแก้ไขความยากจนอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีประเด็นความท้าทายที่ต้องเร่งแก้ไขหลายประการ อาทิ ข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบประกันสังคมและการบริการภาครัฐข้อจำกัดการบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการกระจายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่ครอบคลุม

ดังนั้น เพื่อให้ไทยสามารถบรรลุ SDG ที่ 1 ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาครัฐจะต้องเน้นย้ำความสำคัญในการใช้ประโยชน์จาก TPMAP และเร่งพัฒนาฐานข้อมูลด้านความยากจน เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการออกแบบนโยบายและมาตรการที่เหมาะสม รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่มีคุณภาพและครอบคลุมเพื่อกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

สามารถติดตามรายละเอียดการประเมินความก้าวหน้า SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายของไทยได้ที่ https://sdgs.nesdc.go.th/exhibitions/brightleapforward2021/report2016-2020/ 

เรียบเรียงโดย นายกิตติศักดิ์ เลิศเพิ่มผล