สำรวจสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการของไทย
อาหารเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่ในปัจจุบันยังคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังประสบกับภาวะทุพโภชนาการ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ยากไร้และกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ทารก รวมไปถึงกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากภาวะทุพโภชนาการจะส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ การยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ จึงเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและได้รับการกำหนดเป็นเป้าหมายที่ 2 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งรวมถึงการมีระบบเกษตรที่ยั่งยืนเพื่อทำให้ระบบการผลิตอาหารของมนุษย์ไม่ทำลายสมดุลของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ และคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชและสัตว์ เพื่อจะได้ส่งต่อความอุดมสมบูรณ์ให้กับคนรุ่นต่อไป
สถานการณ์ความหิวโหยของไทยในภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนประชากรที่มีรายจ่ายเพื่อการบริโภคเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนที่ต่ำกว่าเส้นความยากจนด้านอาหาร (Food Poverty Line) ในปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.37 จากเดิมร้อยละ 0.54 ในปี 2559 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาสถานการณ์ด้านการเข้าถึงอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วนกลับเป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้าม เนื่องจากสัดส่วนความชุกของภาวะขาดสารอาหาร (Prevalence of undernourishment) ในปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 8.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.5 ในปี 2559 ขณะที่ความชุกของความไม่มั่นคงทางอาหารของประชากรในระดับรุนแรง (Prevalence of severe food insecurity in adult population) ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยอยู่ที่ร้อยละ 8.5 ในปี 2562 จากเดิมร้อยละ 5.8 ในปี 2559
ที่มา: องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
นอกจากนี้ ประเด็นภาวะทุพโภชนาการ ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวลเช่นเดียวกัน เนื่องจากสัดส่วนของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีภาวะเตี้ย ผอม และน้ำหนักเกินในภาพรวมมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2559 – 2563 แต่ลดลงเล็กน้อยในปี 2564
ที่มา: สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการดำเนินการเพื่อให้คนไทยมีอาหารที่เพียงพอและมีโภชนาการทั่วถึงมากขึ้น อาทิ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน และโครงการอาหารดีพี่ให้น้อง ซึ่งทั้งสองโครงการต่างมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนในถิ่นทุรกันดารหรือกลุ่มยากไร้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอและครบถ้วน นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิตเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพให้กับกลุ่มผู้หญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่ให้นมบุตร อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นความท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องเร่งแก้ไขอยู่อีกมาก อาทิ การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการที่ถูกต้อง การจัดการเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน เนื่องจากยังพบว่าสัดส่วนพื้นที่ดังกล่าวยังน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่การเกษตรทั้งหมดในประเทศ อีกทั้ง การเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรยังต่ำ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนข้อมูลสารสนเทศที่จำเป็นในการวางแผนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพ ดังนั้น การร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนเพื่อเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงอาหารที่มีโภชนาการที่ครบถ้วน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง รวมไปถึงการตระหนักถึงความสำคัญของการมีระบบเกษตรที่ไม่ทำลายสมดุลของสิ่งแวดล้อม จึงเป็นกุญแจสำคัญในการที่จะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้อย่างแท้จริง
ทั้งหมดนี้คือภาพรวมการขับเคลื่อนของประเทศไทยเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDG ที่ 2 การยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน โดยสามารถติดตามรายละเอียดการประเมินความก้าวหน้า SDGs ของไทยทั้ง 17 เป้าหมาย ได้ที่ https://sdgs.nesdc.go.th/exhibitions/brightleapforward2021/report2016-2020/
ประเด็น SDG 2 ที่ต้องเร่งแก้ไข
ผลการประเมินความก้าวหน้า SDG 2 ของไทยระหว่าง พ.ศ. 2559 – 2563 พบว่าในภาพรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่ระดับเสี่ยง หมายความว่ามีสัดส่วนความสำเร็จเพียงแค่ 50 – 74% ของเป้าหมาย จึงให้แสดงผลออกมาเป็นสีส้ม
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ SDG 2 มีสถานะเป็นสีส้ม เนื่องจากมีเป้าหมายย่อยที่มีค่าคะแนนการประเมินอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤต หรือสำเร็จต่ำกว่า 50% ซึ่งแสดงผลเป็นสีแดงอยู่ถึง 3 เป้าหมายย่อย และถือเป็นประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยประกอบด้วย
- SDG 2.1 ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนได้เข้าถึงอาหารปลอดภัย มีโภชนาการ และเพียงพอตลอดปี ภายในปี 2573 แต่ยังคงพบว่ามีคนที่ขาดสารอาหารจำนวนมาก
- SDG 2.2 ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบและแก้ไขปัญหาความต้องการสารอาหารภายในปี 2573 แต่จำนวนของผู้มีภาวะทุพโภชนาการในอายุต่ำกว่า 5 ปี ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- SDG 2.4 สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบผลิตอาหารที่ยั่งยืนและแนวปฏิบัติที่มีภูมิคุ้มกัน รวมทั้งเพิ่มผลิตภาพและการผลิตที่จะช่วยรักษาระบบนิเวศ แต่พื้นที่ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศไทยยังมีสัดส่วนที่น้อย
เรียบเรียงโดย นายเตชสิทธิ์ ศิรสิทธิ์พงศ์พล