สำรวจความก้าวหน้า SDGs ของไทยในช่วง 5 ปีแรก
ประเทศไทยได้เข้าร่วมกับประเทศสมาชิกสหประชาชาติ (UN) ให้การรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ที่กำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) จำนวน 17 เป้าหมาย เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาร่วมกันของโลกที่จะบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังภายในปี 2573 ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558
ที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเรื่อง SDGs มาโดยตลอด ดังสะท้อนได้จากผลการประเมินในช่วง 5 ปีแรกใน “รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2563” ซึ่งระบุว่าไทยมีระดับการพัฒนาที่ก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมี 10 เป้าหมายจากทั้งหมด 17 เป้าหมายที่ได้รับการประเมินว่ามีคะแนนการบรรลุเป้าหมายที่สัดส่วนมากถึงร้อยละ 75 – 99 ของค่าเป้าหมายที่ทาง UN กำหนดไว้ โดยแสดงผลเป็นสีเหลือง ประกอบด้วย เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมและอุตสาหกรรม เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายที่ 15 ระบบนิเวศบนบก และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ความก้าวหน้าของเป้าหมายที่ 1 4 และ 5 เป็นผลสืบเนื่องมาจากภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคนทุกช่วงวัย รวมทั้งมุ่งขจัดปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง ขณะที่เป้าหมายที่ 7 8 9 และ 10 เกิดจากการดำเนินการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะที่ผ่านมา ประกอบกับการลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐาน การวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงการดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
ขณะที่เป้าหมายที่ 13 และ 15 มีที่มาจากการเชิงรุกเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการวางแผนรับมือกับภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ และเป้าหมายที่ 17 เกิดมาจากที่ผ่านมาประเทศไทยได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก อาทิ การเป็นสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ดี ยังคงมีอีก 7 เป้าหมายที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใน ปี 2573 เนื่องจากมีคะแนนอยู่ในช่วงร้อยละ 50 – 74 ของค่าเป้าหมายที่ UN กำหนดไว้ โดย 7 เป้าหมายดังกล่าวประกอบไปด้วย เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ 6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 14 ทรัพยากรทางทะเล และเป้าหมายที่ 16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องเร่งรัดการดำเนินการใน 7 เป้าหมายดังกล่าวนี้
นอกจากนี้ เมื่อดูรายละเอียดจากประเมินในระดับเป้าหมายย่อย (SDG Targets) ทั้ง 169 เป้าหมาย พบว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากมี 52 เป้าหมายย่อยที่มีค่าสถานะบรรลุเป้าหมายร้อยละ 100 ของค่าเป้าหมายที่ UN กำหนดไว้ คิดเป็นสัดส่วนที่ร้อยละ 30.8 เมื่อเทียบกับ 169 เป้าหมายย่อยโดยแสดงผลเป็นสีเขียว ขณะเดียวกันมีอีก 74 เป้าหมายย่อย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.8 เมื่อเทียบกับ 169 เป้าหมายย่อยที่มีค่าสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมายในช่วงร้อยละ 75 – 99 โดยแสดงผลออกมาเป็นสีเหลือง
อย่างไรก็ดี ยังมีอีก 34 เป้าหมายย่อย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.1 เมื่อเทียบกับ 169 เป้าหมายย่อยที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงที่จะบรรลุเป้าหมาย เนื่องจากมีค่าคะแนนต่ำกว่าเป้าหมายที่ UN กำหนดไว้ในระดับที่ร้อยละ 50 -74 และอีก 9 เป้าหมายย่อย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.3 ที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงขั้นวิกฤต ซึ่งแสดงผลออกมาเป็นสีแดง เนื่องจากมีค่าคะแนนต่ำกว่าร้อยละ 50 ที่ UN กำหนดไว้ โดยเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการยุติความหิวโหยและความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ การมีระบบเกษตรอาหารยั่งยืน การลดการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อ การเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน การเสียชีวิตจากสารเคมีอันตราย มลพิษ และการปนเปื้อนทางอากาศน้ำ และดิน เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของสถานการณ์ SDGs ของไทยในช่วงระยะ 5 ปีแรก (พ.ศ. 2559 – 2563) ซึ่งถือว่ามีระดับพัฒนาการที่ดี แต่ยังคงมีความท้าทายที่ต้องดำเนินการต่อไปเพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ที่ตั้งไว้ได้อย่างยั่งยืนและทำให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาได้อย่างแท้จริงทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดการประเมินความก้าวหน้า SDGs ของไทยในภาพรวมได้ที่ https://sdgs.nesdc.go.th/exhibitions/brightleapforward2021/report2016-2020/ รวมไปถึงติดตามและรับข่าวสารความเคลื่อนไหวการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทยได้ที่ https://sdgs.nesdc.go.th/