เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 ได้มีการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (The 15th IMT-GT Summit) ณ เมืองลาบวน บาโจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยผู้นำแผนงาน IMT-GT ของทั้ง 3 ประเทศ ได้ร่วมกันเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 30 ปี แห่งการจัดตั้งแผนงาน IMT-GT โดยมีความสำเร็จที่สำคัญของความร่วมมือ อาทิ มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในอนุภูมิภาคซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1.279 หมื่นล้านเหรียญ สรอ. ในปี 2527 เป็น 4.057 แสนล้านเหรียญ สรอ. ในปี 2564 เช่นเดียวกันกับมูลค่าการค้าระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นจาก 9.79 หมื่นล้านเหรียญ สรอ. ในปี 2527 เป็น 6.18 แสนล้านเหรียญ สรอ. ในปี 2564 นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินโครงการภายใต้แผนงานความเชื่อมโยงทางกายภาพ ซึ่งมีมูลค่ารวม กว่า 5.7 หมื่นล้านเหรียญ สรอ. (ประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท) ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่มีมูลค่ารวมเพียง 5.2 พันล้านเหรียญ สรอ.
ในโอกาสเดียวกันนี้ประเทศไทยได้เน้นย้ำประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ 4 ประเด็น คือ
- เร่งรัดพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จและบรรจุโครงการใหม่ในโครงการเชื่อมโยงทางกายภาพ (PCPs) เพื่อความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อและสอดรับกับแผนงาน MR Map ของไทยโดยจะต้องเร่งรัด (1) โครงการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ (2) โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างด่านศุลกากรสะเดา-บูกิตกายูฮิตัม (3) โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง) และ (4) โครงการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระหว่างสตูลและเปอร์ลิส
- เร่งกระชับความร่วมมือในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศสมาชิก IMT-GT รวมถึงเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนเร่งรัดดำเนินการโครงการปาล์มน้ำมันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และดึงดูดการลงทุนให้มาลงทุนในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเพื่อยกระดับห่วงโซ่มูลค่าด้านการเกษตรให้แก่อนุภูมิภาค IMT-GT
- เร่งรัดการให้ประเทศสมาชิกแผนงาน IMT-GT ลงนามในกรอบความตกลงด้านพิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรคพืชและสัตว์ (Framework of Cooperation between the Government of Indonesia, Malaysia, and Thailand in Customs Immigration and Quarantines Procedures หรือ FoC in CIQ) เพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายของคนและสินค้าอย่างไร้รอยต่อ และเพิ่มพูนศักยภาพทางเศรษฐกิจแก่เส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 แนวในอนุภูมิภาค IMT-GT
- พัฒนาโครงการภายใต้ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสอดรับกับ BCG Model ผ่านการระดมทุนในหลายรูปแบบ อาทิ พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของไทย รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาโครงการภายใต้แผนงานเมืองสีเขียว (Green Cities) และเร่งพัฒนาโครงการตามแผนการลงทุนกรอบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน (SUDF)
นอกจากนั้น ทั้ง 3 ประเทศ และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาหลัก ได้แก่ สำนักเลขาธิการอาเซียน และธนาคารพัฒนาเอเชีย ยังได้หารือประเด็นความร่วมมือสำคัญ อาทิ การพัฒนาสีเขียวและเศรษฐกิจสีครามสู่ความยั่งยืน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการยกระดับการพัฒนาอนุภูมิภาค การสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมศักยภาพของ IMT-GT เช่น ฮาลาล ยางพารา และการท่องเที่ยว
ในช่วงท้ายของการประชุม ผู้นำประเทศแผนงาน IMT-GT ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของแคมเปญปีแห่งการท่องเที่ยวอนุภูมิภาค IMT-GT พ.ศ. 2566 – 2568 (Visit IMT-GT Year 2023 – 2025) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี แห่งการจัดตั้งแผนงาน IMT-GT บนแนวคิดหลัก “Follow Your Dream” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลักการท่องเที่ยวอาเซียน “A Destination For Every Dream” โดยทุกภาคส่วนในอนุภูมิภาคจะได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวในทุกรูปแบบ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและเป็นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของ IMT-GT ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (รับชมวิดีทัศน์การเปิดตัวอย่างเป็นทางการแคมเปญ Visit IMT-GT Year 2023-2025 “Follow Your Dream” ได้ที่ https://youtu.be/opOKzkx5gi4)
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่เพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) ในพื้นที่
สามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับแผนงาน IMT-GT เพิ่มเติมได้ที่ https://imtgt.org
ภาพ/ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ